วันนี้ (28 มี.ค.66) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชูแนวคิดขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตให้เข้มแข็ง ในการประชุมสามัญประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Empowering Thai Industries for Powerful Thailand เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง” พร้อม จัดเสวนา “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” โดย 9 พรรคการเมืองเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า การจัดประชุมในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกส.อ.ท. กว่า 15,000 รายทั่วประเทศ ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การชมภาพกิจกรรมของ ส.อ.ท. ในรอบปี 2565 ชมสิทธิพิเศษและโครงการสำคัญต่างๆ ที่ ส.อ.ท. กำลังขับเคลื่อน การแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะผ่านการจัดทำ FTI Poll ในหัวข้อ “สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก” เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
โดยกิจกรรมไฮไลท์ของการประชุมสามัญประจำปี 2566 ก็คือ การเสวนาเรื่อง “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” จาก 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย 1) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 2) ผศ.สันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา 3) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า 4) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย 5) นายเกียรติ สิทธิ์อมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ 6) นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ 7) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย 8) นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ ว่าที่ผู้สมัครเขตดินแดง-พญาไท พรรคภูมิใจไทย และ 9) นายสุชาติ ชมกลิ่น กรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้ภาคเอกชนทราบแนวนโยบายและเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศให้หมดไป
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายอุตสาหกรรมก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมไทย ประกอบด้วย 3 เรื่อง พร้อมให้สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการทำงานกับพรรคการเมือง หากเห็นด้วยกับสาระสำคัญที่จะนำเสนอ โดยจะต้องหารือกันถึงเป้าหมาย ที่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังเป็นในรูปแบบของ low tech low touch ซึ่งเป้าหมายร่วมกัน ระหว่างพรรคการเมืองและสภาอุตฯ คือ จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาไปยังเป้าหมายให้เป็นกิจกรรม high tech high touch มีทั้งเรื่องดิจิทัล และ Design อยู่ในนั้น โดยทิศทางการพัฒนาจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนไปยังเป้าหมายที่มีร่วมกัน พร้อมมองว่า เศรษฐกิจหลังจากนี้จะต้องเปลี่ยนจาก made in thailand เป็น made with thailand โดยไม่กำหนดขอบเขตเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นการเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชน โดยไม่จำกัดตัวเอง ส่วนปัจจัยต่อมา คือ เรื่องของปัจจัยการผลิต ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเป็น industry 5.0 จากปัจจุบันที่ 4.0 โดยทำให้เครื่องจักร หุ่นยนต์ กับคนมาทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลิตสินค้าในอุตสาหกรรม ให้มีคุณค่ามากกว่าราคาที่ลดลงอีกด้วย