แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่ามองข้ามปัจจัยจากธรรมชาติและจัดสรรงบประมาณสนับสนุน อัปสร พรสวรรค์ นักวิชาการอิสระ

กดติดตาม TOP NEWS

หากได้ติดตามปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควันในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นแรมเดือน เห็นได้ว่าหลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันตามอารมณ์และผลกระทบที่ได้รับ แต่ไม่มีนวัตกรรมความคิดแก้ปัญหาแบบครบวงจร ขณะที่การดำเนินงานภาครัฐยังคงตามหลังปัญหาภายใต้รูปแบบเดิมๆ คือ “รอธรรมชาติบำบัด” รอฝนตก รอลมพัดไป รอให้เผากันจนพอใจ แล้วจับคนเผาให้ได้ ปัญหาก็จะจางหายไปเป็นวัฏจักรการแก้ปัญหาแบบไทยๆ

ที่สำคัญภาคการเกษตร ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของชาติในการสร้างอาหารมั่นคงและส่งออกสร้างเศรษฐกิจมั่งคั่งให้คนไทยทั้งประเทศ กลับเป็น “ผู้ร้าย” คือต้นเหตุของฝุ่นควันพิษที่ทำร้ายสุขภาพของประชาชน จากการเผาวัชพืช เผาตอซัง หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเพาะปลูกรอบใหม่ รวมไปถึงการเผาในลักษณะเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมา ถูกลมพัดฝุ่นควันมาเพิ่มพูนปัญหาและซ้ำเติมคนไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะป้องกันและต้องใช้เวลา

ล่าสุด จากเหตุไฟป่าตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2566 บริเวณ “เขาชะพลู” ต.พรหมณี อ.เมือง จ.นครนายก ลาม “เขาแหลม” ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งมีลักษณะเป็นเขาสูงชันและมีป่าหญ้าสูง ซึ่งไฟป่าครั้งนี้เกิดจากฟ้าผ่าลงบริเวณ “เขาชะพลู” และขยายวงออกไปทำให้พื้นที่มากกว่า 500 ไร่ ได้รับความเสียหาย จากพื้นที่ทั้งหมด 700 ไร่ ซึ่งภาครัฐพยายามควบคุมเพลิงมา 3 วันแล้ว และยังมีไฟป่าอีกหนึ่งจุดที่บริเวณ “เขาตะแบก” ซึ่งอยู่ติดกับ “เขาแหลม” กำลังลุกไหม้จะลามขึ้นไปบนยอดเขากินพื้นบริเวณกว้าง ต้องสังเกตการณ์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ภาครัฐไม่ควรมองข้ามปรากฎการณ์ธรรมชาติไป จึงควรบรรจุไว้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหา โดยเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือไว้รองรับอย่างเหมาะสม

การแก้ปัญหานี้ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วน ร่วมถึงผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคเอกชน ต้องร่วมระดมสมอง กลั่นเป็นนวัตกรรมทางความคิดเพื่อจบปัญหานี้อย่างยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ช่วยหาสาเหตุที่แท้จริง และกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการและป้องกันไฟป่า ฝุ่น PM 2.5 หมอกควันพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในอนาคต

เมื่อรัฐบาลเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ ต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและเทคโนโลยี ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และหากเกิดขึ้นก็ต้องพร้อมรับมือด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับเครื่องมือที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครต้องได้รับการฝึกฝนและยกระดับทักษาการป้องกันไฟป่าและหมอกควันตามมาตรฐานสากล รวมถึงอบรมคนในชุมชนให้ตระหนักรู้ถึงผลร้ายของการเผาป่า การเผาหลังการเก็บเกี่ยว ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและคนในครอบครัวและรุ่นต่อๆ ไป

ฝุ่นควันพิษที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงทำร้ายสุขภาพที่ดีของคนไทยเท่านั้น แต่ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายเพียงเพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น