วันที่ 1 เม.ย. 66 นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวท็อปนิวส์ กรณีที่บริษัท แสนสิริ จำกัด ได้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง เขตวัฒนา และมีการเรียกเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในฐานะเป็นผู้ที่ออกมาเปิดประเด็นนี้เป็นคนแรก ตั้งแต่ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2561
นายประพันธ์ ได้เล่าถึงที่มาของการออกมาเปิดประเด็นว่า มีญาติมาซื้อคอนโด บลอคส์ 77 (Blocs 77) ซึ่งเป็นโครงการแรกของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมทีแล้ว พื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ของโรงงานน้ำแข็ง โดยโครงการดังกล่าว เชื่อมต่อกับ โครงการ เดอะ เบส สุขุมวิท 77 (The Base Sukhumvit 77) โดยมีสะพานเก็บเงิน เป็นจุดเชื่อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยที่ดินย่านนี้เป็นที่ดินตาบอด แต่บริษัทแสนสิริได้ซื้อที่ดินผืนนี้แล้วจึงขออนุญาตกทม. ก่อสร้างสะพานข้ามคลองเชื่อมพื้นที่ และก่อสร้างคอนโดเพิ่มเติมภายในพื้นที่ดินที่ซื้อเอาไว้ กว่า 41 ไร่ โดยมีโรงเรียนนานาชาติ และศูนย์การค้า แหล่งอำนวยความสะดวกต่างๆอยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีเส้นทางที่ทะลุออกไปยังใต้สะพานทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ได้อีกด้วย
นายประพันธ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่า บริษัทแสนสิริได้ ตั้งด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง โดยผู้ที่ต้องหารสัญจรผ่านทาง จะต้องรับบัตรและจ่ายเงิน โดยมีอัตราค่าบริการ รถมอเตอร์ไซค์คันละ 10 บาท รถยนต์คันละ 20 บาท ซึ่งในแต่ละวันจะมีรายได้จากค่าผ่านทาง มากถึงวันละ 3 แสนบาท ตกเดือนละ 9 ล้านบาท เก็บมานานกว่า 10 ปี ก็จะอยู่ประมาณ 90 ล้านบาท ซึ่ง รายได้ส่วนนี้ บริษัทแสนสิริ รับเข้ากระเป๋าไปเต็มๆ ซึ่ง กทม.ควรจะมีการตรวจสอบย้อนหลังเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมกับประชาชน ถือเป็นการเอาเปรียบเบียดบังและเรียกผลประโยชน์จากที่สาธารณะ ซึ่งบริเวณคลองนี้ขุดใช้งานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ใช้สำหรับการสัญจรทางเรือให้กับประชาชน