การยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น แบบ Harpoon จาก ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 28 มีนาคม 2566 ในการฝึกกองทัพเรือประจำปีงบประมาณ 2566 นั้น ชุดเคลื่อนที่อากาศยานไร้คนขับ S-100 Camcopter จากกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน โดย UAV S-100 Camcopter ที่กองทัพเรือมีประจำการอยู่นั้นมีขีดความสามารถขึ้นลงแนวดิ่ง (Vertical Takeoff Landing:VTOL) ทำให้มีความเหมาะสมในการปฏิบัติงานร่วมกับเรือที่มีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ รัศมีปฏิบัติการไกลถึง 100 กิโลเมตร ได้ทำการตรวจการณ์ และชี้เป้าให้กับ ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือ OPV โดยกองทัพเรือดำเนินการต่อขึ้นเองตามแนวทางพระราชดำริ
เศรษฐกิจพอเพียงในการพึ่งพาตนเองของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทั้งนี้การยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น แบบ Harpoon จาก ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการทำการยิงบนเรือประเภทนี้ถูกเป้าอย่างแม่นยำ ที่ระยะ 55 ไมล์ทะเล (ประมาณ 100 กิโลเมตร) จาก ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ โดยทำการยิงในพื้นที่ทะเลอันดามันห่างบริเวณทางทิศตะวันตกของหมู่เกาะสิมิลัน ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 100 กิโลเมตร)
สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น แบบ Harpoon เป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ในกลุ่มประเทศนาโต และเป็นอาวุธทางเรือที่มีผลการยิงที่แม่นยำมาก ทำให้มีประจำการอยู่ในกองทัพเรือหลายประเทศ ที่ผ่านมากองทัพเรือไทยได้ประสบความสำเร็จในการฝึกยิงกับเรือประเภทอื่นที่ไม่ใช่เรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) แต่ในการฝึกกองทัพเรือครั้งนี้
ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นเรือที่มีขนาดเล็กกว่าเรือประเภทเรือฟริเกตซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีสมมรถนะในการรบที่มากกว่า แต่กองทัพเรือไทยก็ประสบผลสำเร็จด้วยการทำการติดตั้งระบบของอาวุธปล่อยที่ทันสมัยได้เองบนเรือรบที่ต่อขึ้นเอง ซึ่งในการฝึกครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกในการนำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) S-100 Camcopter มาปฏิบัติการร่วมกับกองเรือในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการเสริมขีดความสามารถให้กำลังรบทางเรือ เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างกำลังกองทัพเรือให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับภารกิจ และตอบ
สนองยุทธศาสตร์ป้องปรามประเทศได้อย่างคุ้มค่า
คุณสมบัติทั่วไปของ Schiebel Camcopter S – 100 (ฮร.ตช.๑)
-เฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ ขึ้นลงทางดิ่ง VTOL (สามารถขึ้นลงทางดิ่งบนเรือที่มีดาดฟ้า ฮ. ได้)
-ผลิตโดย บริษัท Schiebel สาธารณรัฐออสเตรีย
-ความยาว 3.4 เมตร กว้าง 1.1 เมตร
-รัศมีปฏิบัติการ 100 กม. (54 Nm.) ระยะเวลาปฏิบัติการสูงสุด 5 ชม.
-ความเร็ว Maximum Speed 110 Kts. (Ground Speed)
-เพดานบินสูงสุด 12,000 ft.
-น้ำหนักตัวเปล่า 115 kg.
-น้ำหนักพร้อมบินสูงสุด 200 kg.
-กล้อง EO/IR แบบ MX-10 สามารถปฏิบัติการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อม Laser Range Finder
-ปฏิบัติการกับเรือได้ถึง Sea state 3
-สำหรับการปฏิบัติการใช้กำลังพล จำนวน 8 นาย
-สำหรับการปฏิบัติการที่ผ่านมา ปฏิบัติราชการค้นหาผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย อับปาง
-ปฏิบัติการร่วมกับเรือที่ผ่านมาได้แก่ ร.ล.ตากสิน และ ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช
พัชรพล ปานรักษ์