ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่คนไทยฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ ต้องจริงจังกับการดูแลค่าไฟฟ้าว่าจะเดินหน้าไปสู่จุดใด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็น จนกลายเป็นภาระต้นทุนย้อนกลับมาทำให้ราคาขายปลีกผ่านกฟผ.มีอัตราสูงกว่าควรจะเป็น
โดยเฉพาะกับผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. ว่าด้วยความเห็น “สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก” คืออะไร ควรเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง อย่างไร
ปรากฎว่าอันดับที่ 1 เห็นควรปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานท้ังระบบ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล 77.8%
อันดับที่ 2 เห็นควร ปรับลดอัตราค่า FT ประจำเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ 70.0%
อันดับที่ 3 เห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) 50.6%
อันดับที่ 4 เห็นควรเปิดให้เอกชนขายไฟฟ้า ส่วนที่เกินจากการใช้งานผ่านระบบส่ง/จำหน่ายของการไฟฟ้าฯและมีระบบหักลบหน่วยใช้ไฟฟ้าที่ขายคืนการไฟฟ้าฯเข้าระบบ 49.6%
ขณะที่ล่าสุด Top Biz Insight (31 มี.ค.) พูดคุยเพิ่มเติมกับผู้เกี่ยวข้อง เป็นทางด้าน นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุกับ TOPNEWS ว่า ส.อ.ท.เตรียมยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช) ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทบทวนค่าไฟฟ้าในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 ในราคาจะไม่เกิน 4.40 บาท/หน่วย ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ จากเดิม 4.77 บาท เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ
“ตามประกาศของกกพ.เมื่อวันที่ 22 มี.ค.66 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟของภาคอุตสาหกรรม จะมีการปรับลดลงจาก 5.33 บาทต่อหน่วย ลงมาเหลือ 4.77 บาทต่อหน่วย คิดเป็นการลดลง 11% ขณะที่ค่าไฟภาคครัวเรือน จ่ายแพงขึ้นประมาณ 1% ตรงนี้ไม่เห็นด้วยว่าทำไมภาคครัวเรือนต้องจ่ายแพงขึ้น”