นักวิจัยฮาร์วาร์ด เผยฝุ่น "PM2.5" เพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม ตอกย้ำ ความจำเป็นในการคุมมาตรฐานอากาศมากขึ้น
ข่าวที่น่าสนใจ
นักวิจัยจากโรงเรียนฮาร์วาร์ด ชาน ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับการสาธารณสุข ได้ทำการวิเคราะห์ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ 14 ชิ้นพบว่า การหายใจอากาศที่มีฝุ่น “PM2.5” ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม
ยิ่งไปกว่านั้น พบว่า แม้ว่าระดับฝุ่น PM เฉลี่ยต่อปีจะมีต่ำกว่ามาตรฐานของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (EPA) ที่ 12 ไมโครกรัมต่ออากาศ ๅ ลูกบาศก์เมตร ความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมก็ยังคงมีอยู่
ด้าน ดร. มาร์ค ไวส์สคอฟ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อมและสรีรวิทยาของฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของงานศึกษาดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กล่าวว่า การลดระดับฝุ่น PM เพียง 2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ก็น่าจะทำให้อัตราภาวะสมองเสื่อมลดลงได้
พร้อมกล่าวเสริมว่า เท่าที่เราสามารถบอกได้ ยิ่งสัมผัสกับฝุ่น PM ได้น้อยเท่าไหร่ ความเสี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น แม้ว่าประชาชนจะควบคุมการสัมผัสกับสารมลพิษดังกล่าวได้เพียงเล็กน้อย แต่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถทำได้มากกว่านี้
ทั้งนี้ การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ยังเชื่อมโยงกับโรคต่าง ๆ เช่น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- เบาหวานชนิดที่ 2
- มะเร็งปอด
- ตลอดจนการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ระดับ PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 5 ไมโครกรัม แต่ประชากรเกือบทั้งโลกหายใจด้วยอากาศที่มีระดับฝุ่นขนาดเล็กที่เกินขีดจำกัดดังกล่าว
อย่างไรก็ดี งานศึกษาระบุว่า ฝุ่นPM แม้จะทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยกว่าปัจจัยอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ อีกทั้งยังพบว่า ไนโตรเจนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นสารมลพิษอีก 2 ชนิด อาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย แต่ยังต้องมีการศึกษาต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง