วันนี้ (7 เมษายน 2566) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสามฝ่ายระหว่างราชอาณาจักรไทย นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เรื่องการจัดการปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน (ผ่านระบบ Video Conference) พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมการประชุมด้วย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า
นายกรัฐมนตรีขอบคุณการประชุมร่วมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและ ประสบการณ์การจัดการกับปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน และร่วมกันแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมในการรับมือกับสถานการณ์ เนื่องจากทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยที่ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสามประเทศ เราจำเป็นต้องผนึกกำลังเพื่อช่วยกันและกันในการแก้ไขปัญหานี้
ในโอกาสนี้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโส คณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนว่าเป็นผลจากสภาวะอากาศที่แห้งแล้งในอนุภูมิภาคแม่โขงช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 ทำให้มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง และเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเตือนต่อระดับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระดับสูงสุด (ระดับ 3) ทั้งนี้ ภาพรวมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี 2566 พบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 93 โดยเป็นการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันคือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 5 เมษายน
นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีไทยที่มีบทบาทเด่นในประเด็นนี้ รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มจัดการประชุมวันนี้ ลาวเห็นด้วยที่ต้องมีความร่วมมือหาทางออกร่วมกัน โดยที่ลาวเห็นด้วยกับความร่วมมือในระดับอาเซียน และการเพิ่มการตระหนักรู้เพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุ และปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน
ซึ่งนายกรัฐมนตรีเมียนมากล่าวว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มความร่วมมือเพื่อควบคุม บริหารจัดการร่วมกัน เมียนมาจะดำเนินการอย่างเข้มแข็งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค และเชื่อว่าความมุ่งมั่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และส่งผลเพื่อประโยชน์ในภูมิภาค
ในส่วนของนายกรัฐมนตรีไทยนั้น กล่าวว่า ไทยตระหนักถึงปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนและฝุ่นละออง PM 2.5 ว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน โดยเมื่อพิจารณาจากสาเหตุแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่ 1. ปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขง/ตอนเหนือของอาเซียน (ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเกิดขึ้นในหน้าแล้งของทุกปี (มกราคม – เมษายน) 2. ปัญหาหมอกควันทางตอนใต้ของอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม–กันยายนของทุกปี ปัจจุบัน ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนมีความรุนแรงมากจนกลายเป็นปัญหารุนแรงด้านสุขภาพของประชาชน และกระทบต่อการท่องเที่ยวอันจะมีผลต่อรายได้ของประเทศ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ทุกปีไทยจัดประชุมถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง และจัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง เช่น การให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดมลพิษจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เกษตร เช่น การส่งเสริมการหยุดเผาวัสดุและพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ป่า เช่น การควบคุมปัญหาไฟป่า การให้ความรู้แก่ประชาชน และการดับไฟป่า เป็นต้น
โดยไทยจัดทำมาตรการระยะยาว ปี 2567 – 2570 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษ ในระดับทวิภาคี ไทยร่วมมือกับมิตรประเทศมาโดยตลอด โดยได้ส่งมอบเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ให้ฝ่ายเมียนมาที่เมืองตองจี และท่าขี้เหล็ก เมื่อเดือนกันยายน 2565 เรียบร้อยแล้ว และสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ไทยสนับสนุนแก่ สปป.ลาว และเมียนมา ได้มีส่วนช่วยติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี
ในระดับภูมิภาค ไทยสนับสนุนข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 โดยเมื่อปี 2565 ไทยสามารถลดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ภาคเหนือจากปี 2564 ได้ร้อยละ 61 และค่าเฉลี่ย PM 2.5 ลดลงร้อยละ 27
ในระดับอนุภูมิภาค ตามแผนปฏิบัติการเชียงราย สามารถลดจุดความร้อนได้จาก 139,098 จุด ในปี 2564 เหลือ 108,916 ในปี 2565 และรายงานข้อมูลสถานการณ์จุดความร้อนและการดำเนินการของไทย ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบอย่างต่อเนื่องด้วย และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ไทยมีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงผนึกกำลังแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค