วันนี้ (11 เม.ย.66 ) รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 53.8 ว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 37 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของโลก และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการที่ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 37 เดือน สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่กำลังจะหลุดจากสถานการณ์โควิด -19 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบถึง 6.1% ในปี 2562 และการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่ง เป็นช่วงก่อนเทศกาลวันสงกรานต์และช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีที่สุดในรอบ 3 ปีใกล้เคียงก่อนจะเกิด โควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการซื้อสินค้าคงทนถาวร เช่น รถยนต์ บ้าน และการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังมองว่า ราคาน้ำมันปัจจุบันแม้ว่า จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังแพง พร้อมมองถึงเรื่องค่าไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนจะใช้ไฟแพงขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.ที่มีการปรับค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น จึงส่งผลกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่เด่น แต่ผ่อนคลายลงบ้าง นอกจากนี้ ในส่วนของสถานการณ์ทางการเมืองมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในรอบ 6 เดือน ซึ่งหากหลังการเลือกตั้ง บรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้มีรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ และเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น จากการเมืองที่นิ่งขึ้น เศรษฐกิจโลกผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจไทยได้รับการกระตุ้นจากภาคการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามกรอบบวก-ลบ อยู่ที่ 3.5 %