ทำไปทำมาเรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องจะกลายเป็นเรื่องเสียแล้ว สำหรับกรณีพรรคเพื่อไทยชูนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ “มันนี่วอลเล็ต” ประกาศแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปคนละ 1 หมื่นบาท บนเงื่อนไขต้องจ่ายเงินให้หมดภายในเวลา 6 เดือนกับร้านค้าที่อยู่ห่างจากทะเบียนบ้านไม่เกิน 4 กิโลเมตรเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นนโยบายประชานิยมล่าสุดที่พรรคเพื่อไทยประกาศออกมาเป็นไม้เด็ดในการเลือกตั้งคราวนี้ ที่ปกติทุกครั้งพรรคเพื่อไทยฝ่ายคอกแม้วจะมีการออกนโยบายในลักษณะนี้ออกมาดักหน้ากวาดต้อนคะเเนนเสียงก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง
เพียงแต่รอบนี้นโยบายเงินดิจิทัลที่ออกมาไม่ใช่แค่กวาดคะแนนเสียงอย่างเดียว แต่จะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้าซังเตมีความผิดเอาได้ง่ายๆ เพราะคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามก็ออกมาสหบาทาพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะพุ่งเป้ากระทืบไอเดียสุดบรรเจิดของ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย อดีตเซลล์แมนขายบ้านที่เป็นคนต้นคิดเสนอไอเดียเรื่องนี้แบบจมดิน ลำพังแค่งบประมาณที่จะใช้ราว 560,000 ล้านบาท เพื่อแจกคนไทยที่จะได้สิทธิ์ราว 56 ล้านคน พรรคเพื่อไทยก็อ้วกแตกแล้วว่าจะหางบประมาณมาจากไหน เพราะปีๆนึงแม้รัฐบาลจะหารายได้ๆมหาศาลจากการจัดเก็บภาษี แต่รัฐบาลก็มีภาระมากมายหลายเรื่องที่ต้องใช้จ่าย จู่ๆจะมาทุ่มเงินหลักครึ่งล้านล้านบาทไปทำโครงการประชานิยมแบบนี้ ใครฟังก็หนาวนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเห็นเศรษฐาออกมาพูดเรื่องนี้ก็ลูบปาก เพราะจู่ๆก็มาเสนอนโยบายทำลายตัวเอง “ขว้างงูไม่พ้นคอแท้” แม้ไอเดียจะดีแต่หลักคิด วิธีการ รูปแบบ รายละเอียด ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยเสนออกมาแบบลวกๆ คือเอาง่ายหาเสียงไว้ก่อน งานนี้ก็เลยถูกถองกลับจากฝ่ายตรงข้ามแบบเต็มๆ ประชานิยมสุดโต่ง ประชานิยมสุดขั้ว ประชานิยมสามานย์
เฉพาะความเห็นของนักการเมือง พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามก็ด่ากันเละอัดพรรคเพื่อไทยสวดเศรษฐากันจมหู หลายคนพาลคิดไปถึงโครงการจำนำข้าว ที่แลกๆของนโยบายก็ถูกหลายฝ่ายออกมาต้านหนักหน่วงแบบนี้ ทั้งนักวิชาการ ข้าราชการ องค์กรอิสระ และ สื่อมวลชน ฯลฯ รอบนี้ก็ไม่ต่างกัน แม้เสียงของสื่อในแวดวงจะน้อยไปหน่อย เพราะหลายช่อง หลายสถานี หลายหัว ก็ได้ประโยชน์ได้ผลตอบแทนจากพรรคคอกแม้ว เลยไม่กล้าออกมาด่าไม่กล้าออกมาขย่ม ทั้งๆที่ไม่ต้องไปศึกษาหาข้อมูลอะไรให้มากความ แต่ข้อมูลนโยบายผิวๆ ที่เศรษฐาประกาศออกมา รายละเอียดเพียงแค่นี้ก็เสียวสันหลัง หวั่นประเทศจะต้องเป็นหนี้มหาศาลอีกครั้ง ทั้งๆที่คราวก่อนเรื่องจ่ายเงินค่าข้าวเน่า ค่าโกงข้าว ฯลฯ ก็ยังจ่ายไม่ครบจ่ายไม่หมด เพราะมูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท ยังไม่ทันไรเพื่อไทยคอกแม้วจะมาออกนโยบายผลาญงบสร้างหนี้เจ็ดชั่วโคตรอีก
ไม่เฉพาะแต่นักการเมืองเท่านั้นที่รับไม่ได้กับนโยบาย “ขายฝัน” ไปเรื่อยของเซลล์แมนขายบ้าน แต่ในแวดวงสื่อสารมวลชนคุณภาพ นักวิชาการรักชาติ อดีตข้าราชการน้ำดี ฯลฯ ก็ออกมาติติงเรื่องนี้กันแบบมืดฟ้ามัวดิน วีระ ธีรภัทร สื่อมวลชนอาวุโส นักจัดรายการวิทยุฝีปากกล้าออกมาสะท้อนเรื่องนี้แบบตรงๆ ว่า “คือปกติผมก็ไม่ใช่ขาเชียร์ประยุทธ์นะ แต่ไอ้นโยบายแจกเงินหนึ่งหมื่นแบบนี้ ทำให้ผมต้องมาเป็นคู่ตรงข้ามกับคุณ โดยไม่จำเป็น ทำอะไรแบบนี้มันสุ่มเสี่ยงมากในแง่วินัยทางการเงินการคลัง” อ.วีระออกมาสับแหลก ด้านเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตส.ว. และ คมลัมนิสต์คนดังออกมาเขียนบทความกระตุกสติเพื่อไทยความว่า ” หากประเทศไทยจะทำโดยรัฐบาลเป็นผู้ทำก็จะต้องเคลียร์เรื่องอำนาจว่าการออกธนบัตรแบบดิจิตอล เป็นอำนาจของกระทรวงคลังหรือเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วจะส่งผลกระทบในด้านบวก คือกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นหรือกระตุ้นเศรษฐกิจผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศที่ส่งไปขายทุกท้องถิ่น และด้านลบโดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ ภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล ด้วยหรือไม่ นโยบายแจกและแถม จะถือว่ามีเจตนาซื้อเสียงล่วงหน้าหรือมีเจตนาที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ กรรมการ การเลือกตั้งและศาลจะต้องพิจารณา” อ.เจิมศักดิ์ตั้งข้อสังเกต
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ก็ตั้งคำถามในลักษณะเอาเงิน 5 แสนล้านบาทมาทำอย่างอื่นน่าจะมีประโยชน์มากกว่าไหม ดีกว่าเอาไปละเลงละลายน้ำแบบนี้ ” เงิน 5 แสนล้านบาทดังกล่าว เหตุใดจึงไม่ถูกนำไปใช้ในการลงทุน ซึ่งแต่ละปี ประเทศไทยต้องการการลงทุนเพื่ออนาคตจำนวนมาก เหตุใดไม่นำเงินดังกล่าวมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการพัฒนา ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงมากขึ้น เพราะไทยเป็นที่ 3 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ ….. การทำนโยบายเงินดิจิทัลภายใน 6 เดือนจะทำให้งบกลางของประเทศหมดลงหรือไม่ และมีงบฉุกเฉินอย่างไร เพื่อไทยจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เพราะสังคมไทยยังไม่ได้คำตอบ” เรียกว่าอ่วมอรทัย
แถมล่าสุดทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ออกมาส่งหนังสือให้เพื่อไทยคอกแม้วแจงที่มาของนโยบายนี้แล้ว ” กฎหมายกำหนดไว้ว่านโยบายที่ต้องมีการใช้จ่ายเงินต้องมี 3 เงื่อนไข คือ 1.วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่ ตอนนี้มี 6 พรรคที่แจ้งว่ามีนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายเงินมายัง กกต. ทุกพรรคที่รายงานมาต้องชี้แจง 3 เงื่อนไขดังกล่าวมาให้ครบถ้วน ซึ่งนโยบายแบบนี้ถือว่าไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล 3 เงื่อนไขดังกล่าวอาจผิดเข้าข่ายหลอกลวงตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 73 (5) ก็ได้” แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุ
ขณะที่ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต.รับผิดชอบงานด้านพรรคการเมือง ยืนกรานเพื่อไทยต้องแจงที่มาไม่งั้นมีความผิด “หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนก็มีโทษ โดยตามขั้นตอนสำนักงาน กกต.มีหนังสือไปแล้วยังไม่แจ้งกลับมาก็จะเสนอ กกต.ออกคำสั่ง ถ้าหากยังไม่ดำเนินการอีกก็มีโทษปรับ 500,000 บาทนับแต่วันที่ กกต.กำหนดให้แจ้ง และปรับอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง ” พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ระบุ บอกเลยงานนี้เพื่อไทยหน้าแตกเศรษฐาน้ำบานแน่ อย่าคิดว่าการเลือกตั้งยุคนี้พ.ศ.นี้ อยากจะพ่นอยากจะขายฝันอะไร ก็สักปล่อยนโยบายออกมาแบบพล่อยๆ ยุคนี้พ.ศ.นี้มันไม่ได้แล้วครับนาย จะมาหลอกคนไทยแบบยุคทักษิณสมัยไทยรักไทย มันหมดสมัยไปแล้ว หลอกจะให้เงินเด็ก 16 ปี ความจริงตั้งใจจะให้ 18 ปี ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ แต่กลัวคนเขาจับได้ว่าหน้าไม่อายแจกเงินในอนาคตแบบสุดชั่ว เลยลดเพดานลงมาเหลือแค่ 16 ปี นโยบายโคตรโกงของฝ่ายคนชั่วคิดแต่เรื่องเลวๆ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ใครๆก็รู้ ระวังของจะเข้าตัวออกนโยบายสุดมั่ว ขว้างงูไม่พ้นคอแบบนี้ระวังงูจะกัดตายเอาง่ายๆ ยิ่งมีพวกจองกฐินจ้องจะยุบพรรคเพื่อไทยเป็นหางว่าว ปล่อยนโยบายซี้ซั้วขายฝันไม่ดูตาม้าตาเรือระวังจะพังทั้งๆที่ยังไม่ได้เลือกตั้ง
//////////////