ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐาน เหตุผู้ร้ายปาระเบิดใส่ "นายก ญี่ปุ่น" เมื่อวันที่ผ่านมา คาดเป็นระเบิดไปป์บอมบ์ ในขณะที่ผู้ต้องสงสัยยังคงปิดปากเงียบ ยังไม่ทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุ
ข่าวที่น่าสนใจ
จากเหตุปาระเบิดใส่นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางปราศรัยหาเสียงช่วยลูกพรรคเมื่อวานนี้ ที่ท่าเรือจังหวัดวากายามะ ล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายชื่อนายคิมูระ ริวจิ วัย 24 ปี อาศัยอยู่ในเมืองคาวานิชิ ในจังหวัดเฮียวโกะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจังหวัดวากายามะ ทั้งนี้ ริวจิยังคงไม่ให้การใด ๆ ทั้งสิ้น จึงยังไม่ทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุ
ด้านแหล่งข่าวฝ่ายสืบสวน ได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นว่า ผู้ต้องสงสัยมีวัตถุทรงกระบอก 2 ชิ้น แต่มีชิ้นที่ทำการระเบิดเพียงชิ้นเดียว ส่วนอีกชิ้น เจ้าหน้าที่สามารถยึดและระงับไว้ได้ พร้อมเตรียมนำไปวิเคราะห์กลไกภายในต่อไป
เบื้องต้นระบุว่า วัตถุทรงกระบอกทั้ง 2 ทำมาจากโลหะ โดยมีวิธีการทำด้วยการปิดผนึกปลายท่อที่บรรจุดินปืนแต่ละด้าน และติดตั้งด้วยตัวจุดระเบิด ระเบิดดังกล่าวจะระเบิดก็ต่อเมื่อความดันอากาศภายในท่อ เกิดแรงดันถึงระดับหนึ่ง หลังจากที่ดินปืนถูกจุด เจ้าหน้าที่จึงสงสัยว่าอาจจะเป็นไอรอนไปป์บอมบ์
ขณะที่นายอิตาบาชิ อิซาโอะ หัวหน้าศูนย์วิจัยของสภานโยบายสาธารณะ และเชี่ยวชาญด้านมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับทาง NHK ว่า ระเบิดที่เห็นอาจเป็นไอรอนไปป์บอมบ์ เนื่องจาก มีลักษณะเป็นทรงกระบอกและมีควันพุ่งออกมา ส่วนการที่ผู้ต้องสงสัยถือกระบอกไว้ 2 อัน บ่งชี้ว่า เหตุการณ์นี้อาจถูกไตร่ตรองไว้ก่อน
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว ถือว่า เจ้าหน้าที่ตอบสนองต่อวัตถุที่ถูกขว้างอย่างรวดเร็ว จนสามารถนำนายกรัฐมนตรีออกไปยังที่ปลอดภัยได้ และเป็นความโชคดีที่มีเวลาก่อนที่วัตถุจะระเบิดออกมา รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนมาก ถูกส่งมาประจำการในครั้งนี้ด้วย
เมื่อดูในเหตุการณ์จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรีและการ์ดรอบตัว ทราบว่า มีวัตถุตกมาข้าง ๆ และหลบออกไปได้ทันที ส่วนเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบก็เข้ารวบตัวผู้ต้องสงสัยทันทีเช่นกัน ก่อนที่อีกประมาณ 10 วินาที วัตถุที่เขวี้ยงไปจะเกิดการระเบิดออกมา
อย่างไรก็ดี อิตาบาชิได้ชี้ว่า การที่วัตถุระเบิดตกใกล้กับผู้นำญี่ปุ่นมาก ถือเป็นความท้าทายสำหรับการวางแผนด้านความมั่นคงในอนาคต ซึ่งควรจะมีการหารืออย่างละเอียด เกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ต้องดำเนินการระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะ การกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นั้น เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก
และเป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าห่างกันไม่นานกับเหตุลอบยิงอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จนเสียชีวิต เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังควรมีมีการทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัย ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่จะจัดขึ้นที่ญี่ปุ่น ในเดือนหน้าด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง