รู้จัก “สารัชถ์” มหาเศรษฐีหุ้น No.1 บทพิสูจน์รัฐซื้อไฟฟ้าใครได้ประโยชน์

รู้จัก "สารัชถ์" มหาเศรษฐีหุ้น No.1 บทพิสูจน์รัฐซื้อไฟฟ้าใครได้ประโยชน์

กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทย กับสถานการณ์ค่าไฟฟ้า ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงต้นเหตุแท้จริง นอกเหนือปริมาณการใช้ไฟต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน ว่า เป็นผลจากการที่หน่วยงานรัฐ อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน มาใช้เพื่อมาตรการสำรองไฟฟ้าภายในประเทศ จนเกินความจำเป็นหรือไม่

เพราะแต่ละหน่วยค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อจากเอกชนในราคาสูง ก่อนจัดจำหน่ายให้ภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ มีส่วนสำคัญทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีอัตราสูงขึ้นไปด้วย ตามค่า Ft ที่ กกพ. เป็นผู้กำหนด โดยพิจารณาจากตัวเลขต้นทุน การรับซื้อปริมาณไฟฟ้าในแต่ละช่วงเดือน

 

โดยกกพ. ปรับขึ้นค่าเอฟทีปี 2565 แบบขั้นบันได ซึ่งทยอยเพิ่มค่าเอฟที ตั้งแต่งวด ม.ค. – เม.ย. 65 ที่ 16.71 สตางค์ โดยระบุว่า รับภาวะราคาพลังงานขาขึ้น หลังก่อนหน้านี้ ตรึงค่าเอฟทีรับมือโควิด-19 นานกว่า 2 ปี

(ใส่กราฟฟิก) อย่างไรก็ตาม เมื่อมาย้อนดูค่าไฟฟ้าตั้งแต่ปี 65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าไฟฟ้านี้เป็นค่าไฟฟ้าประชาชนต้องจ่ายต่อหน่วย ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฐาน ค่าเอฟที ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ปี 65
– ม.ค.-เม.ย.65 หน่วยละ 3.77 บาท

– พ.ค.-ส.ค.65 หน่วยละ 4.00 บาท

– ก.ย.-ธ.ค.65 หน่วยละ 4.69 บาท

ปี 66
– ม.ค.-เม.ย.66 หน่วยละ 4.72 บาท (บ้านที่อยู่อาศัย) หน่วยละ 5.33 บาท (ประเภทอื่น ๆ)

– พ.ค.-ส.ค. 66 หน่วยละ 4.77 บาท

 

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ ภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการบริหาร จัดการ เรื่องทิศทางพลังงานไฟฟ้าของไทย ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ประชาชน หรือ ใครกันแน่

เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ รายการ ฐาน ทอล์ค ได้มีการสรุปข้อมูล เรื่องราคาหุ้นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า ขายให้กับกฟผ. ต่างมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กรณีสำนักงานกกพ. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 175 ราย จากการยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง

พร้อมระบุด้วยว่า การทำโรงไฟฟ้าไม่ใช่เจ้าเล็กๆ จะทำได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้สิทธิ์นี้ โดยบริษัทแรกถือว่าคุ้นตากันดี เพราะ CEO เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย และเป็นผู้ผลิต จำหน่ายไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย

ทั้งนี้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้เสนอผลิตไฟฟ้า ให้กับกฟผ.ล็อตใหม่ รวม 27 โครงการ ด้วยตัวเลขปริมาณเสนอขาย 1,623.91 เมกะวัตต์ แยกเป็น พลังงานลม 622 เมกะวัตต์ , พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 700.2 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 301.71 เมกะวัตต์

ลำดับต่อมา คือ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ซึ่ง รายการ ฐาน ทอล์ค ระบุว่า เป็นญาติกันกับ GULF โดยกัลกุลฯ ได้ไป 17 โครงการ รวมปริมาณเสนอขายทั้งหมด 832.4 เมกะวัตต์ แยกเป็นพลังงานลม 180 เมกะวัตต์ , พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 83.6 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 586.8 เมกะวัตต์

ก่อนจบท้ายว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แรงสนับสนุนจากการประกาศของกพพ.อย่างต่อเนื่อง และน่าจะทำให้ราคาหุ้นขยับขึ้นไปมากขึ้นกว่านี้ เพราะการซื้อขายไฟฟ้าล็อตใหม่ รัฐบาลจะให้สัญญายาวนานสูงสุดถึง 30 ปี เพราะฉะนั้น กลุ่มหุ้นของกลุ่มโรงไฟฟ้าต่างๆ ปรับตัวไปในทิศทางขาขึ้นเหมือนกัน

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็น บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE , บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH , บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE พร้อมย้ำว่า กรณีของ GULF ไม่ต้องพูดถึง ใครเดินตามเจ้าสัว คุณสารัชช์ ส่วนใหญ่ รวยทั้งหมด

ประเด็นน่าสนใจ ก็คือ ที่มาของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ สถานะ ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี บุคคลที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีหุ้น อันดับ 1 ของประเทศ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

โดยการจัดอันดับเศรษฐีหุ้น ปี 2565 โดย วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ยังครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ด้วยมูลค่ารวม 218,981.58 ล้านบาท และมีอัตราเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้นสูงถึง 45,881.86 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.51 % ของสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2564

และถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ในช่วงที่ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีหุ้น อันดับ 1 ของประเทศ มูลค่าหุ้นขณะนั้น มีตัวเลขรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 115,289.99 ล้านบาท และ ปี 2564 ก้าวกระโดดเป็น 173,099.73 ล้านบาท

ไม่เท่านั้นในปี 2565 ที่ผ่านมา “ตระกูลรัตนาวะดี” ยังก้าวขึ้นเป็น แชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2565 ด้วยการทำสถิติใหม่มีความมั่งคั่งสูงถึง 218,981.58 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน เพิ่มขึ้น 45,881.85 หรือเท่ากับ 26.51% จากการถือหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)

ขณะที่ในส่วนของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันจดทะเบียน 6 ธันวาคม 2560 ว่า ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า จากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ การลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยปัจจุบันมี “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 4,185,088,097 หุ้น หรือ คิดเป็น 35.67 % และมี GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED ถือหุ้นในสัดส่วน 1,160,431,363 หุ้น หรือ คิดเป็น 9.89 % และ บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 551,729,877 หุ้น หรือ คิดเป็น 4.70 % และ GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. ถือหุ้นในสัดส่วน 377,250,502 หรือ คิดเป็น 3.22 % เท่ากับเมื่อรวม 4 กลุ่มเกี่ยวข้อง การถือหุ้นทั้งในนามส่วนตัว “สารัชถ์ รัตนาวะดี” และ บริษัทในเครือ มีสัดส่วนรวมทั้งสิ้น 53.48 %

ขณะที่ผลประกอบการ GULF ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565 มียอดกำไรสุทธิดังนี้ ปี 2561 กำไรสุทธิ 3,028.13 ล้านบาท , ปี 2562 กำไรสุทธิ 4,886.56 ล้านบาท , ปี 2563 กำไรสุทธิ 4,282.11 ล้านบาท , ปี 2564 กำไรสุทธิ 7,670.30 ล้านบาท และ ปี 2565 กำไรสุทธิเพิ่มเป็น 11,417.56 ล้านบาท

สำหรับนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ชื่อเล่น “กลาง” ศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
เมื่อศึกษาจบได้ก่อตั้ง บริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าในปี 2537 ขณะอายุเพียง 29 ปีโดยนายสารัชถ์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ จากนั้นได้จัดตั้งบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้คำนำหน้าว่า “กัลฟ์” เช่น บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ.2539) บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ.2539) บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ.2540) และ บริษัท กัลฟ์ ไอพีพี จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ.2547) เป็นต้น

ส่วนข้อมูลในเชิงธุรกิจ พบว่า สารัชถ์ มีเส้นทางชีวิตน่าสนใจ โดยมีการระบุถึงความสัมพันธ์กับบุคคลในหลายระดับ โดยพบว่า จบวิศวะ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นรุ่นพี่ของ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอของ บมจ.ปตท. นอกจากนี้ พบว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็อยู่ในวิศวะ จุฬาฯ คอนเนกชั่นด้วย

ขณะที่ในปี 2557 สารัชถ์ ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งเรียกตัวมาสอบ เนื่องจากได้รับสัมปทานโครงการรับซื้อไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ โดยการอนุมัติที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงที่มาการเติบโตทางธุรกิจ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ขายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หรือ กฟผ. พบข้อมูลจากการเปิดเผยผ่านเว็บไซด์ GULF ระบุว่า โรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของกัลฟ์ ผลิตและจำหน่ายไฟให้กับกฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลานานถึง 25 ปี

ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดเล็ก มีการผลิตและจำหน่ายไฟให้กับกฟผ. ในปริมาณ 70% – 80% ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 25 ปี โดยการกระจายผ่านเครือข่ายสายส่งทั่วประเทศของกฟผ. จากนั้นจึงจำหน่ายต่อไปยังกฟภ. และกฟน. ซึ่งเป็นผู้จ่ายไฟต่อไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ

ไม่นับรวมโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่มีช่องทางการจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็น ให้กับผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

ประเด็นสำคัญก็คือ กรณีการเป็นผู้รับสัมปทานขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. มีข้อมูลว่าในปี 2555 ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ยกเลิกมติที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน มีมติกพช.ให้ กฟผ.มีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้า 50% ของกำลังผลิตทั้งประเทศ

พร้อมเปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าโดยไม่จำกัด รวมถึงกำหนดให้สำนักนโยบายพลังงาน (สนพ.) จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งเป็นที่มาของฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2555-2573) ที่ต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาเสริมระบบ และกำหนดให้ปี 2564-2569 มีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 5,000 เมกะวัตต์บรรจุในแผน PDP นี้ด้วย ซึ่งท้ายสุด GULF คือผู้ชนะการประมูล รับผิดชอบในการผลิตและขายไฟฟ้าให้กฟผ.มาจนถึงปัจจุบัน

ไม่เท่านั้นมาถึงรัฐบาลยุคปัจจุบัน แม้ว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองจากการรับซื้อบริษัทเอกชนจะมากเกินความจำเป็น แต่ปรากฎว่ากกพ. ยังคงมีนโยบายเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชน มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กฟผ.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปิดประมูลผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ภายใต้กรอบระยะเวลา ปี 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ เมกะวัตต์ และล่าสุด ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านคัดเลือก 175 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์(MW) โดย นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานกกพ. ระบุว่า การไฟฟ้าฯจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอบรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 19 เมษายน 2566

ซึ่งก่อนหน้านั้น นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 โดยกำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ , พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ , ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณรับซื้อเพิ่มเติมรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ และมีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ซึ่งจะเป็นการรับซื้อต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม

และการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ดังกล่าว จะเป็นการเปิดต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้นการเปิดรับซื้อรอบแรกที่ 5,203 เมกะวัตต์ โดยใช้ระเบียบเดียวกันของ กกพ. ในการรับซื้อไฟฟ้า ผ่านรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20 -25 ปี

และนี่เป็นข้อมูลบางส่วนที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย กับภาวะที่ประชาชนคนไทย กำลังเดือดร้อนสาหัส จากสถานการณ์ค่าไฟฟ้าแพง และพร้อมใจเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน โดยเฉพาะการขอให้ทบทวนเรื่องการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชน เมื่อเทียบกับสัดส่วนการสำรองปริมาณไฟฟ้าจนเกินความจำเป็น และกลายเป็นภาระต้นทุนที่ทำให้กฟผ.ต้องรับผิดชอบตัวเลขการจำหน่ายไฟฟ้าในราคาที่แพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น