ติดตามประเด็นค่าไฟแพงที่กำลังเป็น Talk of the town โดยเฉพาะต้นเหตุแท้จริง เกี่ยวกับนโยบายการจัดซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน อ้างว่าเพื่อสนับสนุนแผนสำรองพลังงาน ขณะที่ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าวว่า
“ผมคิดในใจทันทีว่าแพงเพราะนาย ส. กลางอ่าว บริษัทของนาย ส. กลางอ่าว ทำสัญญาอะไรไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จึงจำเป็นต้องสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยไว้เกินกว่า 50 % ทำให้ชาวบ้านและคนไทยตาดำๆ เสียค่า FT แพงโคตรแพงครับ ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่ต้องสำรองไฟฟ้าไว้มากเกินไปขนาดนั้นครับ”
ล่าสุด ดร.อานนท์ ได้แชร์โพสต์ข้อมูล The Momentum ใจความสำคัญส่วนหนึ่ง ระบุถึง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” บนเส้นทาง “มหาเศรษฐี” ไทย ว่า ในปี 2565 ชื่อของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ขึ้นแซงบรรดา “เจ้าสัว” ดั้งเดิม กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับแบบ “เรียลไทม์” ของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4.32 แสนล้านบาท
พร้อมคำถามสำคัญว่า สารัชถ์และกัลฟ์คือใคร บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศ “ร่ำรวย” มาจากอะไร การเติบโตของกัลฟ์เดินมาด้วยเส้นทางใด มีใครอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่บ้าง เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มักจะมีชื่อของกัลฟ์และชื่อของสารัชถ์ปรากฏขึ้นเสมอทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือคดี “หมิ่นประมาท” กับผู้ที่อภิปรายอย่างน้อย 2 ราย
พร้อมข้อมูลอ้างถึง “สารัชถ์ ว่า เป็นลูกชายของ พลเอก ถาวร รัตนาวะดี อดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย นายทหาร จปร.5 รุ่นเดียวกับพลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี, พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี และพลเอก วิมล วงศ์วานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก
ส่วนเส้นทางการศึกษา เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียง อยู่ในรุ่นเดียวและรุ่นใกล้เคียง อาทิ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนรุ่นเดียวกัน และ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอของ ปตท. คนปัจจุบัน
ขณะที่ “สารัชถ์” เริ่มตั้งบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด แล้วทำธุรกิจพลังงาน ตั้งแต่ปี 2537 ก่อนแตกแขนงเป็นอีกหลายบริษัทในปี 2539 ซึ่งบังเอิญประจวบเหมาะกับการที่ภาครัฐในขณะนั้น มีนโยบายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เริ่มกระจายให้ผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ผลิตไฟฟ้ารับผิดชอบ โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อจากผู้ผลิตเอกชนอิสระ (Independent Power Producer: IPP)
และโครงการในระยะเวลาแรก ก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังการผลิต 734 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2541 แต่เนื่องจากถูกชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก สุดท้ายจึงต้องล้มเลิกโครงการในช่วงปี 2545-2546