สืบเนื่องจากการประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีงวด เดือนพ.ค. – ส.ค.66 เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
จากงวดเดือนม.ค. – เม.ย. 2566 ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จ่ายค่าเอฟที 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ จ่ายในอัตรา 154.92 สตางค์ต่อหน่วย(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับค่าไฟฟ้าในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 นี้ ภาคประชาชน ได้ออกมาสะท้อนว่า อยากให้ภาครัฐปรับลดค่าไฟฟ้าลง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงฤดูร้อน ที่ภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทางทางภาคธุรกิจ โดย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ขอยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ทบทวนค่าไฟฟ้างวดนี้ให้ต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย นั้น
ล่าสุด วันนี้ 20 เม.ย.66 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ระบุว่า ล่าสุด ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ทำหนังสือยืนยันที่จะมีส่วนช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 7 สตางค์ โดยเสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อน จากประมาณ 35 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 28 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 ลดลงมาที่ 4.70 บาทต่อหน่วย
โดยเรื่องดังกล่าว ได้นำเข้าที่ประชุมกกพ. เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.66) ซึ่งที่ประชุมระบุว่า ถ้ากฟผ.ยืนยัน และพิจารณาแล้วว่า ไม่มีปัญหาทางด้านฐานะการเงิน กกพ.ก็จะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาตามขั้นตอน