วันที่ 21 เม.ย.2566 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Harirak Sutabutr” ระบุว่า…ก่อนที่จะถึงเวลาต้องห้ามตามกฎหมายที่จะสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โพลของสำนักต่าง ๆ ต่างก็ทะยอย ทำกันออกมาเป็นระยะ นอกจากจะมีนิด้าโพล และซูเปอร์โพล ซึ่งดูเหมือนจะเป็น 2 สำนักที่ทำโพลออกมาอย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้ยังมี เนชั่นโพล และล่าสุดที่เห็นคือ มติชน-เดลินิวส์โพล
นิด้าโพล ซูเปอร์โพล และเนชั่นโพล เท่าที่ดู น่าจะเป็นการสำรวจโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างตามระเบียบวิธีวิจัย แต่นิด้าโพลใช้กลุ่มตัวอย่างเพียง 2,000 ตัวอย่าง ซูเปอร์โพลใช้ประมาณ 6,000 ตัวอย่าง ส่วนเนชั่นใช้กลุ่มตัวอย่างมากถึงเกือบ 40,000 ตัวอย่าง และเป็นการสุ่มแยกรายภาคที่เรียกว่า stratified random sampling ส่วนกรณีมติชน-เดลินิวส์ แม้ว่าจะมีคนโหวตเป็นจำนวนมากแต่เป็นการให้โหวตออนไลน์ จึงไม่น่าจะเรียกว่าโพลได้ ทำให้ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าโพลอื่น ๆ เพราะผู้ที่โหวตเป็นผู้ที่เป็นผู้ติดตามข่าวของมติชนและเดลินิวส์เท่านั้น
ผลการสำรวจของทุกสำนักที่ออกมาตรงกันคือ พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเป็นอันดับที่ 1 นิด้าโพลให้พรรคก้าวไกลเป็นอันดับที่ 2 และพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นอันดับ 3 ซูเปอร์โพลให้พรรคภูมิใจไทยเป็นอันดับ 2 และพรรคพลังประชารัฐอันดับ 3 ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่อันดับ 5 และพรรคก้าวไกลอยู่อันดับ 6 ที่แตกต่างกันมากระหว่างนิด้าโพลและซูเปอร์โพลคือ พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ผลของซูเปอร์โพลให้พรรคภูมิใจไทยเป็นอันดับ 2 และพรรคพลังประชารัฐอันดับ 3 นิด้าโพลกลับให้พรรคภูมิใจไทยเป็นอันดับ 5 และพรรคพลังประชารัฐเป็นอันดับ 8 ที่น่าตกใจคือ ผลของนิด้าโพลบอกว่ามีคนเลือกพรรคภูมิใจไทยเพียง 3.75% นอกจากจะขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไปที่คาดว่าอย่างน้อยพรรคภูมิใจไทยต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คุณอนุทิน ชาญวีรกูลก็คงต้องมีข้อกังขากับผลการสำรวจของนิด้าโพลเป็นแน่