เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-5 ถึง B1-6 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ร่วมกับ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม” ผ่านรูปแบบผสมในห้องประชุม (onsite) และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (online) โดยมีนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานในพิธีเปิด และมีนายนิพนธ์ นาคสมภพ ประธานอนุกรรมาธิการฯ สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความ และสื่อมวลชนเข้าร่วม
นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้มีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นของบุคคลไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 36 โดยเฉพาะมาตรา 35 ที่ได้กำหนดว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเน้นในเรื่องการใช้เสรีภาพที่มีอยู่ตามกฎหมาย แต่ปัญหาที่พบจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การใช้กระบวนการยุติธรรมมาใช้บังคับกับเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ดังจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น สื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ หรือนักการเมือง
หรือการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม และบุคคลที่กล่าวอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวในเรื่องนั้น ๆ ได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย อาทิ ประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานหมิ่นประมาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการละเมิด ไปยื่นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้สื่อมวลชนไม่ให้นำเสนอข่าว หรือลบข่าวนั้น ๆ ออกไป ซึ่งกรณีดังกล่าว ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาด้านการสื่อสารมวลชนที่มีผลกระทบต่อประเทศในทุกมิติ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ เพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ และได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งการจัดเสวนาในครั้งนี้จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน เพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย