วันที่ 21เม.ย.66 ที่พรรคไทยภักดี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวถึงกรณีไปร่วมเวทีดีเบต เรื่องสิทธิมนุษยชน จัดโดยแอมเนสตี้ประเทศไทย วานนี้ (20 เม.ย.) ว่า เหตุการณ์หลังจบการดีเบต ได้มีกลุ่มเยาวชนราว 20 คนเดินเข้ามาหาตน ที่ตนประกาศจุดยืนสนับสนุนและพร้อมแก้ไขมาตรา 112 ให้รัดกุมมากกว่าเดิม ซึ่งเด็กเยาวชนได้ยื่นคลิปวิดีโอ ที่อ้างว่าเด็กถูกทำร้าย และต้องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนจากตน โดยเด็กในคลิปดังกล่าวชื่อ “น้องหยก” หรือ ด.ญ.ธนลภย์ เด็กหญิงวัย 14 ปี เจ้าของนามแฝงบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า “สหายนอนน้อย” ที่ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 และถูกนำตัวส่งสถานพินิจคดี ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้พยายามอ้างว่า ทำไมเยาวชนจึงต้องถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย ตนจึงตอบกลับไปว่ากฎหมายคือกฎหมาย บุคคลใดกระทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งถ้าเป็นเด็ก เยาวชนจะได้รับการดูแลอีกอย่างนึง หากเป็นผู้ใหญ่ก็อีกอย่างหนึ่ง เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย
“หมอวรงค์” ประณามคนอยู่เบื้องหลัง เรียกร้องแอมเนสตี้ไทย ท้า “ธนาธร-ปิยบุตร-พิธา” ดีเบตม.112
ข่าวที่น่าสนใจ
นพ.วรงค์ กล่าวว่า ในคลิปน้องไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วน้องหยกทิ้งตัวลงนอนลงกับพื้น เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หญิง 2 คนรีบเข้ามาช่วยกันพยุงอุ้มขึ้นมา ซึ่งกลุ่มเยาวชนได้บอกกับตนว่า นี่คือการทำร้าย แต่เท่าที่ตนดูในคลิปไม่มีการทำร้าย ทางตำรวจมีความเห็นใจ น้องหยก ด้วยซ้ำ และพูดคุยโดยที่ไม่ได้ใช้คำหยาบคาย ซึ่งทางเยาวชนไม่แฮปปี้กับคำพูดของตน แล้วโห่ร้องใส่ตน พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการถูกดำเนินคดีจากคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจากในคลิปเจ้าหน้าที่ก็ได้ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ใช้ความรุนแรงอย่างที่กลุ่มเยาวชนแอบอ้าง ตนเป็นคนพูดตรงไปตรงมาถ้าตนเห็นว่ามีการกระทำรุนแรงทำร้ายกลุ่มเยาวชน ตนจะช่วยประนาม
ส่วนที่เยาวชนกลุ่มนี้เรียกร้องสิทธิการประกันตัวนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า สิทธิในการประกันตัว จำเลยได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวอยู่แล้ว แต่หากศาลไม่ให้ประกันตัว ศาลก็ต้องชี้แจง ซึ่งศาลมีเหตุผลทุกครั้งถึงการไม่ให้ประกันตัว ว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก ตนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ตนมีความรู้สึกว่ามีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง มาตรา 112 ไม่เคยรังแกใครและไม่เคยทำร้ายใคร กลุ่มเยาวชนเหล่านี้กระทำความผิด ด่าทอ ให้ร้าย เผาทำลาย ดูหมิ่นรวมถึงหมิ่นสถาบัน แต่กลับพยายามกล่าวหาว่ากฎหมายรังแก ทำร้ายพวกเขา ใช้กฎหมายเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งตนบอกมันไม่จริง พวกคุณไม่ได้พูดตามข้อเท็จจริงแม้แต่เรื่องการไม่ให้ประกันตัว
นพ.วรงค์ กล่าวถึงกรณีที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องการให้พรรคการเมืองออกนโยบายยกเลิกมาตรา 112 เพื่อสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ว่า ตนเข้าใจว่าเกือบทุกพรรคการเมือง ออกนโยบายเอาใจกลุ่มเยาวชน ไม่มีจุดยืนหรือหลักการเป็นของตนเอง ซึ่งบางพรรคเองยังกั๊กเรื่องยกเลิกมาตรา 112 เด็ก ๆ ยังเข้าใจโครงสร้างสังคมไทยผิด สังคมไทยไม่ใช่สังคมศักดินา แต่สังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมทุนนิยม ที่สามารถผูกขาดกับพรรคการเมือง ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งตนมองว่าความอยู่ดีกินดีอยู่ตรงนี้ ต้องแก้ไขปัญหาในจุดนี้ ไม่ใช่ไปแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112
“ผมไม่รู้สึกโกรธเคืองกลุ่มเยาวชนที่มาทำไม่ดีกับผม ผมเห็นใจและอยากพูดคุยด้วย และต้องประนามผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง ผมคิดว่าพฤติกรรมแบบนี้ เป็นพฤติกรรมที่พยายามปลุกปั่นกลุ่มเยาวชน ที่อยู่ในวัยคะนองมั่นใจในตนเองสูง และคิดว่ามาถูกทาง ซึ่งมันไม่ใช่ ผมมองว่าบุคคลที่คอยสนับสนุนกลุ่มเยาวชน ควรหาโอกาสเข้ามาดีเบตกับผม อยากให้ แอมเนสตี้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดพื้นที่สาธารณะให้ผมกับกลุ่มเยาวชนได้เข้ามาหารือกัน หากกลุ่มเยาวชนไม่เข้าใจในเรื่องไหนผมพร้อมที่จะชี้แจงความถูกต้องกลับไป และอยากให้บุคคลที่อยู่เบื้องหลังทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า หรือแม้แต่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่เยาวชนมองว่าคนเหล่านี้เป็นฮีโร่ มาดีเบตกับตน เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง