จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ทำให้หลายหน่วยงานออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์เรื่องค่าไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พยายามหาทางช่วยเหลืออยู่ เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ตามที่ค่าไฟฟ้าของประชาชนในช่วงเดือนเมษายน 2566 สูงขึ้น ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ได้ชี้แจงยืนยันว่า เกิดจากเหตุอากาศที่ร้อนสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าเพิ่ม ไม่ได้เป็นการขึ้นค่าไฟฟ้า พร้อมกับมีข้อแนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ด้วยการยึดหลัก “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน”
นายอนุชา กล่าวว่า MEA ยืนยันว่า การคิดค่าไฟฟ้าในช่วงนี้ยังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าไฟฟ้าจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราตามที่นโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด สำหรับสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะเห็นได้จากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุด มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2566 ซึ่งค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด มักจะพบว่าอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งสิ้น
โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือ เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ยกตัวอย่างในสภาวะอากาศปกติ เช่น อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศา แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เช่น อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียล แอร์จึงทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้จากการทดสอบพบว่า อุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับในช่วงอากาศร้อนพฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน