หลังที่ประชุมบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติการจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kits (ATK) นำมาใช้สำหรับการตรวจเชื้อเบื้องต้นให้กับประชาชนเพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 เบื้องต้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช.เปิดเผยว่ามีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 1,014 ล้านบาท สำหรับการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่คาดว่าน่าจะได้ราว 8.5 ล้านชุด โดยแนวทางจัดหาทางเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถีจะต้องไปดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK ผ่านทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.)
ระหว่างนั้น มีความพยายามของนพ.ที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชื่อดัง ทางภาคใต้ พยายามแจ้งและโทรศัพท์ล็อบบี้ ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม เพื่อขอให้จัดซื้อ ATK ของบริษัทที่ผ่าน WHO เท่านั้น ห้ามซื้อของจีน ถ้าไม่เชื่อกันระวังจะโวยวายในเรื่องนี้แน่ แม้ว่า เลขาฯองค์การเภสัชกรรมจะยืนยันว่า ขอทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประมูลจัดการแข่งขันสู้ราคากันอย่างเป็นธรรม
ต่อมา ทางองค์การเภสัชกรรม ได้แจ้งให้ 24 บริษัทนำเข้า ATK ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. ผลปรากฎว่ามี 19 บริษัทเสนอราคา แต่มีแค่ 16 บริษัทเท่านั้นที่ส่งมอบของได้ทันตามความต้องการของไทย สุดท้ายผลการพิจารณาคัดเลือกของอภ.ปรากฎว่า บริษัท ออสแลนด์แคปปิตอล จำกัด ผู้นำเข้าชุดตรวจ ATK จาก บริษัท Beijing Lepu Medical Technology สาธารณรัฐประชาชนจีน ชนะการประกวดราคาเพราะเสนอราคาชุดตรวจ ATK ต่ำสุด เฉลี่ยชุดละ 70 บาท
ทางเพจชมรมแพทย์ชนบท ก็แฉข้อมูลว่า ATK ของบริษัท Beijing Lepu Medical Technology ไม่ผ่านการ อย. สหรัฐอเมริกา และถูกเรียกคืนผลิตภัณฑ์นับล้านชิ้น อ้างว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานจึงต้องเรียกคืนและห้ามจำหน่ายเด็ดขาด ซึ่งก็เป็นประเด็นในประเทศไทย จนประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ต้องสั่งให้ตรวจสอบและชะลอการจัดซื้อก่อน
และในวันนี้(13 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมแถลงชี้แจงประเด็นมาตรฐานการพิจารณาอนุญาตชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK)
นพ.ไพศาล กล่าวว่า อย. เป็นองค์กรหลักที่ดูแลเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดของ อย. ในการอนุญาตผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานในระดับสากล
ส่วนกรณีชุดตรวจที่ผลิตโดย SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test ของ Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน อย.อนุญาตทั้งใช้ด้วยตนเองและโดยบุคลากรทางการแพทย์ อยู่ในลำดับที่ 4 และ 21 ตามลำดับ นอกจากได้ อย.ไทยแล้ว ยังได้รับรองมาตรฐาน CE ของยุโรป วางตลาดได้ในหลายประเทศทั้งเยอรมนี โรมาเนีย ออสเตรีย เป็นต้น ซึ่งสามารถวางขายในตลาดได้ ผลการตรวจทางคลินิกโดยคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ผลความไวเท่ากับ 90% มีความจำเพาะ 100% และความไม่จำเพาะเท่ากับ 0% เมื่อเทียบกับ RT-PCR
“ส่วนกรณี FDA อย.สหรัฐฯ เรียกคืนชุดตรวจแอนติเจนและแอนติบอดีเทสต์ ของ Lepu Medical Technology จึงต้องเรียกคืนให้เหตุผลว่าอาจเกิดเรื่องของความเสี่ยงในการได้ผลลวง เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนและวางจำหน่าย แต่ไม่มีรายงานการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในการใช้ แต่ให้เลิกและหยุดใช้ เนื่องจากมีความเชื่อว่ามีความเสี่ยงสูงในผลของชุดตรวจ ซึ่งก็เหมือนกับกรณีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ อย.ไทย เช่น ฟ้าทลายโจร ที่ไม่ได้รับอนุญาต เราก็มีความเชื่อมั่นว่าไม่มีประสิทธิภาพ มีการปนเปื้อนได้ ชุดตรวจก็เช่นเดียวกัน หากไม่ได้รับอนุญาต คือไม่ได้รับประเมินจากหน่วยงานรับผิดชอบของประเทศนั้นๆ เป็นเหตุผลในการเรียกคืน และสื่อสารความเสี่ยง” นพ.ไพศาล กล่าว
ด้าน นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ. ได้รับมอบหมายจาก รพ.ราชวิถี ให้จัดหาชุดตรวจ ATK ด้วยตัวเอง 8.5 ล้านชุดตามโครงการพิเศษของ สปสช. อย่างเร่วด่วน มีการประสานงานต่อเนื่อง โปร่งใส และให้มีการแข่งขัน ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เน้นย้ำชัดเจน เนื่องจากมีการขึ้นทะเบียน ATK กับ อย. จำนวนมาก จึงบอกว่าไม่ควรเฉพาะเจาะจงรายใดรายหนึ่ง ควรมีการแข่งขัน
“ดังนั้น อภ. เลยเปิดให้มีการแข่งขันอย่างโปร่งใส ดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้าง ตามระเบียบ โดยในการเสนอราคานั้น มี 19 บริษัท จากการส่งจดหมายเชิญ 24 บริษัท มีการตรวจสอบคุณสมบัติ พบมีผู้สามารถเปิดซองได้ 16 บริษัท ถือเป็นการแข่งขันโดยสมบูรณ์ มีการบันทึกวิดิโอตลอดการประมูล และได้ของบริษัทออสท์แลนด์ฯ เสนอราคาต่ำสุด เป็นผลิตภัณฑ์ SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test ของ Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
“โดยบริษัทออสท์แลนด์ฯ มีคุณสมบัติตามที่กำหนดทุกอย่าง เสนอราคาต่ำสุดตามวงเงินที่ สปสช.ตั้งไว้ และสามารถประหยัดงบประมาณได้ 400 ล้านบาท ชุดตรวจราคาเหลือ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ทั้งนี้ ATK นี้ผลิตโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน และผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์รายใหญ่ ได้รับการรับรองมาตรฐานยุโรป และขึ้นทะเบียนในหลายปะะเทศ อาทิ เยอรมัน เบลเยียม อิตาลี โปแลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น”
ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาชี้แจง แถลงข่าวเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนว่า กระบวนการตรวจสอบคุณภาพได้มาตรฐาน การประมูลจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ไม่สนใจ ยังดึงดันที่จะให้ยกเลิกการประมูล พร้อมทั้งด้อยค่าชุดตรวจ ATK ของบริษัท Lepu มองว่าจะเป็นขยะที่ใช้งานไม่ได้จริง และสุดท้ายยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ปลดล็อกให้ สปสช. สามารถจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เองอีกด้วย ทั้งที่ในอดีตก็มีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จนต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับวิธีการประมูลโดยให้หน่วยงานภายนอกเป็นคนจัดซื้อจัดจ้าง
ซึ่งล่าสุดทีมข่าว TOPNEWS ได้โทรศัพท์ ไปสอบถามนางสาวบุญยืน ศิริธรรม รองประธานสภาองค์กรผู้บริโภค คนที่ 2 ถึงกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาเรียกร้อง เคลื่อนไหว สอดรับกับ สิ่งที่ นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ได้พูดไว้ในคลิปเสียง ซึ่งก็ชัดเจนว่าเป็นการเรียกร้องให้ องค์การเภสัชกรรม ซื้อ ชุดตรวจ ATK จาก 2 บริษัทที่ผ่านการ WHO แล้ว ไม่ให้ซื้อของจีน เพราะไม่งั้นจะโวยวายแน่
น.ส.บุญยืน กล่าวว่า สภาองค์การของผู้บริโภค ได้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง atk ไปแล้ว ซึ่งในการสั่งซื้อนั้น จะเน้นราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ผลตรวจหาเชื่อจะต้องมีความแม่นยำด้วย โดยความคิดเห็นของสภาฯ นั้น คล้อยตามกับกลุ่มแพทย์ชนบท เพราะมีเหตุมีผล สินค้าเสียเงินซื้อก็ต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่เน้นราคาถูกอย่างเดียว
“เรายืนอยู่ข้างประชาชน ยืนอยู่ข้างผู้บริโภค เราเสียเงินซื้อแล้ว ไม่ใช่ว่าถูก แต่มันใช้ไม่ได้ แต่ว่ามันก็ควรราคาสมเหตุสมผล และสินค้าที่ได้มาก็ควรที่จะมีคุณภาพ ไม่ได้เน้นถูกอย่างเดียวประมาณนี้”
ทั้งนี้ จากงานวิจัยที่มีการเปิดเผยออกมา ระบุว่า สินค้าจากจีน มีโอกาสที่ผลการตรวจเพี้ยนได้ถึง 48% ดังนั้น ในเรื่องของความเชื่อมั่นคงจะทำได้ยาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค เคยได้ทำงานร่วมกันกับทางนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และคุณหมอจาก รพ. จะนะ จังหวัดสงขลา จึงเชื่อมั่นว่า บุคคลเหล่านี้ ทำงานด้วยจิตสาธารณะจริงๆ
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ว่าอาจมีความไม่โปร่งใส มีการสัมีการล็อกสเปก นาง บุญยืน กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบระเบียบราชการ เกี่ยวกับการประมูล การจัดซื้อจัดจ้างว่าทำได้อย่างไร แต่ระเบียบราชการที่ผ่านมา ก็มีข้อติดขัดหลายอย่าง แต่หากมีการเจรจาเบื้องต้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ที่จะทำให้การส่งมอบสินค้าเร็วขึ้น
สำหรับกรณีนี้ จะเข้าข่ายกรณีฮั้วประมูลหรือไม่ นางบุญยืน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสินค้าว่าเป็นอย่างไร ทุกคนก็รู้ว่าระบบราชการมีความล่าช้า แต่ชีวิตคนมันช้าไม่ได้ และอุปกรณ์การตรวจหาเชื้อที่มันจำเป็นบางทีต้องข้ามระเบียบ ไปบ้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงเครื่องมือนี้ อีกทั้งราคาที่สมเหตุสมผล ส่วนจะเป็นการ ผูกขาดไม่ผูกขาด ไม่สามารถทราบได้
นางบุญยืน กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิป อ้างว่าเป็นคลิปเสียงของนายเเพทย์ อารักษ์ และ นายแพทย์วิฑูรย์ ซึ่งคลิปดังกล่าว เสียงผู้ที่อ้างว่าเป็นนายแพทย์อารักษ์ กล่าวว่า หากไม่มีการดำเนินการอย่างที่ว่าก็จะมีการออกมาโวยวายว่า ส่วนตัวยังไม่ได้เห็นคลิปดังกล่าว เท่าที่รู้จักและทำงานกันมานพ.อารักษ์ ไม่ใช่คนที่จะไปข่มขู่ใคร เพราะเป็นคนใจเย็น เป็นคนมีเหตุมีผล นุ่มลึก แต่สมมุติว่าไปข่มขู่จริง ทางองค์การเภสัชไม่ต้องมาเปิดเผยคลิป แต่สามารถแจ้งความได้ทันที จะเปิดเผยคลิปโจมตีทำไม และส่วนตัวไม่ได้รู้จักกับ ผอ. องค์การเภสัช แต่รู้จักกับหมออารักษ์เป็นอย่างดี รู้จักและไว้ใจเพราะเคยทำงานด้วยกัน รู้ว่าหมออารักษ์เป็นคนมีจิตสาธารณะ ไม่เช่นนั้น จะไม่นำทีมเเพทย์ชนบทมาช่วยคนกรุงเทพ
แต่ล่าสุด ทางนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ก็ได้ออกมายอมรับว่า คลิปเสียงดังกล่าวนั้นเป็นเสียงของตนเองจริง ที่ได้พูดคุยกับ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ เลขาธิการองค์การเภสัชกรรม ที่พูดคุยเรื่องสเปคของชุดตรวจ ATK จริง