คลังปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ เหลือ 3.6% แต่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว

คลังปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 66 เหลือร้อยละ 3.6 จากภาคส่งออกขยายตัวลดลง แต่ยังฟื้นตัวต่อจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ชี้นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง การใช้งบประมาณต้องมีที่มาที่ไป และมีแหล่งเงินมาสนับสนุน

วันนี้ (25 เม.ย.66) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) ลดลงจากการคาดการณ์ ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวลดลงและไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 นััน เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี

 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและกลุ่มสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 164.6 ต่อปี และคาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 255.9 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับด้านอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ข่าวที่น่าสนใจ

นายพรชัย ระบุว่า คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 ถึง 4.6) ตามรายได้ภาคประชาชนที่ฟื้นตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช่วยให้การบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ผลของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงในช่วงต้นปี 2566 ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง 0.0) นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.6 ถึง -1.6) และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1.0 – 3.0 เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานจากต้นทุนพลังงาน และราคาน้ำมันคลี่คลายลง

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP

 

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ 1) ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติที่มีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ 2) สถานการณ์เงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

และปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ 2) ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองได้มีนโยบายหาเสียงที่เป็นประชานิยม และใช้งบประมาณจำนวนมากนั้น นายพรชัย ระบุว่า ในเรื่องนโยบายหาเสียงนั้น สิ่งเเรกที่พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการคือ การแจ้งถึงที่มาที่ไปของงบประมาณที่จะใช้ไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จากนั้นต้องพิจารณาว่า การที่จะดำเนินการนโยบายดังกล่าว รัฐบาลที่ได้รับการเลือกให้มีการจัดตั้งรัฐบาล จะมีการผลักดันนโยบายต่างๆ จะต้องรู้ว่ามีเเหล่งเงินใดที่จะสามารถจะนำมาสนับสนุนได้

ทั้งนี้ จากกำหนดการเลือกตั้ง และกำหนดการที่สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้รวมกันศึกษา คาดว่า ในช่วงเดือน ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันแรกของปีงบประมาณ 2567 จะทำให้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ยังนำมาใช้ไม่ทัน ซึ่งสำนักงบประมาณได้เคยตั้งไว้ และได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดปัจจุบัน วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท หากไม่สามารถนำมาใช้ได้ จะต้องใช้ตามพ.ร.บ.วิธีการปีงบประมาณ 2561 โดยใช้งบประมาณปีเก่า (2566)ไปก่อน โดยใช้ในงบที่ผูกพันไว้ หรือ งบที่จำเป็นต้องจ่าย และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ จะออกแนวทางปฏิบัติในการใช้แหล่งเงินใดได้บ้าง

 

 

นายพรชัย ระบุว่า สิ่งที่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งต้องดูนโยบายต่างๆ จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ และจัดลำดับระยะเวลาดำเนินการ เพราะงบประมาณในแต่ละปีมี กว่า 3 ล้านล้านบาท เป็นงบประจำกว่า 70% และงบลงทุน 20% เหลืองบที่ต้องดูว่าเพียงพอกับนโยบายต่างๆ อย่างไร ส่วนการปรับปรุงงบประมาณ จะต้องดูวงเงินงบประมาณ และการจัดเก็บรายได้ ว่าต้องจัดเก็บเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะต้องดูสถานการณ์อีกครั้งในช่วงเดือน ต.ค. ส่วนนโยบายไม่ได้ใช้งบประมาณ จะต้องดูว่ากฎหมายได้เปิดให้ดำเนินการได้หรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลกฎหมายต่าง ๆ ด้วย

 

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองไม่เพียงพอ สามารถที่ดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ได้หรือไม่ นายพรชัย ระบุว่า กฎหมายได้กำหนดให้มีการกู้เงินเพื่อมาใช้ในการลงทุนเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

รองผบช.ภ.2 แถลงปิดคดี ผู้ต้องหา ฆ่าตัดนิ้ว 'แม่ยายอัยการ' เจ้าตัวสารภาพ ต้องการเงินใช้หนี้ ลงมือเพียงลำพัง
"รมว.สุดาวรรณ" เผย วธ.ร่วมสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมพร้อมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากจีนมาประดิษฐานในไทย วันที่ 4 ธ.ค.67-14 ก.พ.68
"ผู้เสียหาย" ร้องสอบ "เอ๋ คลองหลวง" ท้าวแชร์ไฮโซ ส่อโกงกว่า 12 ล้าน
สหรัฐฯปลดล็อก ATACMS ให้ยูเครน มีผลอย่างไร
“เมืองไทยประกันภัย” เชิญ “ศิลปินแห่งชาติ” ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง
"พระพยอม" ชี้ "ตาทิพย์" เป็นวิชามาร ไม่มีในพระไตรปิฎก เตือนพระที่สอน อย่าทำตัวเป็นศาสดา
ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน ตรวจเยี่ยมกองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน สร้างขวัญกำลังใจ
ชาวบ้าน สุดทน สารเคมีไหลลงแหล่งน้ำ เตรียมแจ้งความเอาผิดกรมบังคับคดี
หนุ่มคลั่งราดน้ำมันจุดไฟเผารถพ่อเลี้ยง โดนจับไม่สำนึก แถมโยนความผิดให้คนอื่น แม่ลงฝ่ามืออรหันต์ลั่นเต็มกระบาล
จีนวอนลดเผชิญหน้าหลังสหรัฐไฟเขียวยูเครนใช้ ATACMS

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น