วันที่ 25 เม.ย. 66 ที่พรรคพลังประชารัฐ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรคฯ พร้อมด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษากรรมการนโยบายพรรคฯ และ ม.ล. กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรค แถลงข่าวประเด็น “ปัญหาไฟฟ้าของประเทศไทย”
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวสรุปถึงที่มาและปัญหาค่าไฟฟ้าแพงว่า มาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1. การสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น ไฟฟ้าสำรองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โรงไฟฟ้าแม้ไม่ได้ผลิตไฟ ประชาชนก็ต้องจ่ายเงิน เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย (AP) 2.โรงไฟฟ้าใหม่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง แต่ปัญหาการจัดการแหล่งก๊าซบงกช และเอราวัณในอ่าวไทยของรัฐบาล ทำให้ปริมาณก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าลดลงกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่ามาทดแทน และ3. การปิดโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ เพื่อเปิดทางให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ LNG มีราคาแพงเข้ามาในระบบ หากเป็นเอกชนก็ต้องจ่ายค่า AP เป็นก้อนใหญ่ชดเชยให้ ทั้งที่บางแห่งผลิตไฟได้ถูกกว่า ทั้งนี้ตนขอแจกแจงให้เห็นชัดๆ ถึงปัญหาในแต่ละส่วนดังนี้
1 ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น
1.1 ไฟฟ้าสำรองปี 2557 ที่ประยุทธ์ปฏิวัติ 30% ปี 2565 หลังจากประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแปดปี ขึ้นเป็น 70%
1.2 รัฐทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแบบ Take or Pay คือ แม้ไม่ใช้ไฟประชาชนก็ต้องจ่าย เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ทั้งค่าก่อสร้าง ค่าจ้างคน นำมารวมเป็นค่าไฟฐาน รัฐควรจะใช้เงื่อนไขนี้เฉพาะแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เงื่อนไขนี้ผิดพลาดมาหลายรัฐบาล แต่ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไม่แก้ไข
2. ปัญหาการจัดการแหล่งก๊าซบงกช และเอราวัณในอ่าวไทย
2.1 การเปลี่ยนสัญญาสัมปทานในแหล่งก๊าซบงกช และเอราวัณเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต เกิดความผิดพลาดล่าช้า ทำให้ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยลดลงกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่ามาทดแทน ส่งผลกระทบต่อค่าไฟโดยตรง
2.2 กำหนดเงื่อนให้บริษัทผูกขาดท่อก๊าซกลางอ่าวไทยเป็นผู้ได้สิทธิ์รับซื้อก๊าซของชาติที่ปากหลุมผลิต แต่ผู้เดียวเพื่อบวกกำไรแล้วจึงขายให้ กฟผ. ทั้งที่บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในตลาดหลักทรพย์ที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย ดังนั้น ควรจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติเพื่อเป็นผู้ใช้สิทธิ์รับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียวเพื่อขายก๊าซถูกให้ กฟผ.
3 เลือกซื้อไฟที่ต้นทุนแพงโดยไม่จำเป็น
3.1 กฟผ. เข้าไปรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีต้นทุนแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของ กฟผ. อย่างมาก ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น เพราะใกล้เลือกตั้งจึงไม่กล้าขึ้นค่าไฟจึงให้ กฟผ. แบกรับค่าไฟที่สูงขึ้นแทนประชาชนไปก่อน แล้วมาเรียกเก็บจากประชาชนผ่านค่า ft ในภายหลัง ขณะนี้ กฟผ. มีหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดอยู่ในระดับ 150,000 ล้านบาท
3.2 รัฐบาลประยุทธ์ควรจะสั่งให้ กฟผ. เลิกซื้อไฟที่ต้นทุนแพงจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิง เปลี่ยนไปรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประชาชนแทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงมาก