จากกรณีที่ แขก คำผกา ได้กล่าวถึงหนังสือเรียนภาษาไทย “มานี มานะ” โดยระบุว่า “ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกระบบการศึกษาบนโลกใบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างพลเมืองในอุดมคติของรัฐ โดยกล่อมเกลาพลเมืองผ่านหลักสูตรการศึกษาและแบบเรียน
แต่ยังไม่เคยเห็นแบบเรียนที่ถูกผลิตอย่างไม่ประณีตเท่า “ภาษาพาที” มาก่อนเลย นี่คือแบบเรียนที่เขียนโดยคนที่ไม่มีศิลปะของการเป็นนักเขียน ไม่มีสุนทรียภาพทางภาษา ขาดศิลปะในการสื่อสารและการเรียบเรียงความคิดที่ดี
การโฆษณาชวนเชื่อผ่านแบบเรียนที่ทรงพลังมากคือ “มานี มานะ” ซึ่งมากับหลักสูตรการศึกษา พ.ศ. 2521 และไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับมานีมานะเลย ทั้งที่มันมีลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างครบองค์ประกอบ ทั้งเศรษฐกิจพอเพียง ชนบทแสนงาม ทุ่งนาเขียวขจี ในน้ำมีปลาในนามีผักบุ้ง ทั้งที่ชีวิตในชนบทมันไม่ได้สวยงามแบบนั้น มันทั้งลำบากและยากจน
หนังสือมานีมานะได้จำลองชุมชนขึ้นมาแห่งหนึ่ง หมู่บ้านชนบทแห่งนี้มีตัวละคร เช่น สองพี่น้องมานะ-มานีซึ่งมาจากครอบครัวอบอุ่นและอยู่ดีกินดี ปิติมาจากครอบครัวเกษตรกร ชูใจอยู่กับตายาย เพชรเป็นตัวละครที่มีความนอกคอก แต่สุดท้ายก็ถูกกล่อมเกลาให้เข้าพวก มีครูไพลินเป็นตัวแทนข้าราชการ มีเกษตรอำเภอที่คอยสอนเรื่องราวต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ฟัง ทุกคนในหมู่บ้านอยู่ด้วยกันอย่างสุขสงบ
แต่การฉายภาพชนบทในยุคนั้นคนจนไม่ได้กินไข่ต้ม คนจนกินปลาสด ๆ ที่จับมาจากแม่น้ำ ผักที่เก็บมาจากพืชสวนครัวรั้วกินได้ มีเป็ดไก่และไข่ในเล้า คุณภาพชีวิตดี ผู้คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ส่วนในเมืองมีแต่เสียงรถรา ควันพิษ อาหารแพงและไม่อร่อย กลับบ้านนอกของเราดีกว่า
ซึ่งทั้งหมดนี้โฆษณาชวนเชื่อหนักกว่าเรื่องไข่ต้มกับน้ำปลาเสียอีก แต่ที่มันซื้อใจคนได้หมดจด เพราะมันเป็นงานประณีต
ดังนั้น ในแง่นี้ก็ถือว่าเผด็จการไทยคุณภาพตกต่ำลงมาก ปี 2521 ก็เป็นเผด็จการ แต่เป็นเผด็จการที่ประณีต เล่าเรื่องได้สนุก ภาษาสวยงาม ไม่มีความก้าวร้าว เป็นหนังสือโลกสวยทุ่งลาเวนเดอร์ที่สั่งสอนคนโดยไม่ทำให้ใครรู้สึกขุ่นเคืองหรือไม่สบายใจ
ประเทศไทยในมานีมานะ คือประเทศไทยในจินตนาการที่เขาอยากให้เราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นแบบนั้น มันถูกส่งผ่านหลักสูตรการศึกษา และเราทุกคนยังคงแบกประเทศไทยในอุดมคตินี้ไว้เป็นเมนสตรีมมาจนถึงทุกวัน”