"แอปเรียกแท็กซี่" กรมการขนส่งทางบก ชี้เป้า 6 แอปพลิเคชัน บริการรถแท็กซี่และรถยนต์รับจ้างที่ผ่านการรับรองแล้ว มั่นใจปลอดภัยในการเดินทาง
ข่าวที่น่าสนใจ
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการให้บริการรถสาธารณะให้มีความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ซึ่งในปัจจุบันประชาชนนิยมใช้บริการรถแท็กซี่ เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว
กรมการขนส่งทางบก จึงแนะนำประชาชนให้เลือกใช้บริการรถแท็กซี่ ที่ถูกต้องตามกฎหมายและเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ดังนี้
- การสังเกตตัวรถต้องจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ (ป้ายเหลือง) ซึ่งจะมีการจดทะเบียนถูกต้องและมีการจัดทำประกันภัยที่คุ้มครองผู้โดยสาร
- ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ (ไม่สิ้นอายุ) ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนการออกใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ทั้งนี้ ข้อมูลคนขับรถ บัตรประจำตัว และข้อมูลทะเบียนรถ จะต้องถูกต้องตรงกันเพื่อให้ได้รับการให้บริการจากแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ส่งเสริมให้ผู้สนใจประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นคำขอการจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทรถเป็นรถยนต์รับจ้าง ได้ที่สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียน กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นคำขอได้ที่ สำนักการขนส่งผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก ส่วนภูมิภาคสามารถยื่นคำขอได้ที่กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัด
โดยผู้ยื่นคำขอต้องมีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 9 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก โดยจำกัด 1 คนต่อ 1 คัน ซึ่งผู้ยื่นคำขอต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกในประเภทที่ใช้แทนกันได้ที่ยังไม่สิ้นอายุ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางของประชาชน กรมการขนส่งทางบกขอย้ำให้ประชาชนใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่กรมการขนส่งทางบกรับรองแล้วเท่านั้น
“แอปเรียกแท็กซี่” โดยปัจจุบันได้รับรองแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่
- ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส (Hello Phuket Service)
- บอนกุ (Bonku)
- เอเชีย แค็บ (Asia Cab)
- โรบินฮู้ด (Robinhood)
- แกร็บ (Grab)
- แอร์เอเชีย ซุปเปอร์แอป (Airasia Superapp)
การสังเกตตัวรถ รถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน (แท็กซี่) ต้องจดทะเบียนรถเป็นรถยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) ในส่วนของรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน (รถยนต์ส่วนบุคคล) ต้องจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็น ‘รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์’ และติดสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังรถที่เห็นได้ชัดเจน กรณีเจ้าของรถนำรถไปให้บริการโดยไม่จดทะเบียนเปลี่ยนประเภท จะไม่มีสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์รถรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นการใช้รถผิดประเภทและมีความผิดตามกฎหมาย
ผู้ขับรถ ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะผ่านการสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวรถ ต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทรถและวงเงินที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถ
ต้องจัดทําประกันภัยเพิ่มเติมจากกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้รถยนต์รับจ้างต้องจัดทำประกันภัยความเสียหายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้โดยสารและบุคคลภายนอกในวงเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และความเสียหายต่อทรัพย์สินในวงเงินไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท เช่นเดียวกันกับรถแท็กซี่ทั่วไป
ซึ่งแอปพลิเคชันที่กรมการขนส่งทางบกให้การรับรองจะมีความปลอดภัยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ แสดงอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าที่ชัดเจนโดยละเอียด ในอัตราที่เป็นธรรม ภาครัฐสามารถตรวจสอบได้มีประกันครอบคลุมตามที่กฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยฯ กำหนดเพื่อความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ปลอดภัย เป็นธรรม และเมื่อเกิดอุบัติเหตุยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายผู้ประสบภัยฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการพบปัญหาในการใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน ‘1584’ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News
ข่าวที่เกี่ยวข้อง