เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 66 ที่ ฟาร์มมหาวิทยาลัยโนโลยีสุรนารี (ฟาร์มโคเนื้อวากิว) ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายศุภนิมิต เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ และสื่อมวลชนร่วมงาน
นายอนุชา กล่าวว่า การลงพื้นที่มาดูผลผลิตวัวพันธุ์ไทยยอดนิยม “โคราชวากิว” รู้สึกดีใจแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ได้เห็นถึงอนาคตของลูกหลายผู้เลี้ยงวัว ที่จะมีโอกาสร่ำรวยจากการเลี้ยงวัว ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น โดยเฉพาะพี่น้องภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงโค และวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยจะมีอาคารปฎิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และฮาลาลเพื่อการส่งออก ที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถือเป็นสถานที่ในการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตโคไทยวากิวเพื่อให้เป็นอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ทำให้เกิดการส่งออกเนื้อวัวมากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าทางการตลาด ซึ่งเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น จะทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมีรายได้มากยิ่งตามลำดับ
นายอนุชา กล่าวไปว่า การผลิตโคเนื้อในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ที่สำคัญตลาดส่งออกเนื้อโค โดยเฉพาะในตลาดประเทศอาเซียนรวมถึงตลาดโลก ยังมีช่องว่างให้เกษตรกรไทยได้นำโคเนื้อเข้าสู่ตลาดอีกมาก เพราะประเทศผู้ผลิตเนื้อโคของโลกโดยเฉพาะออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การส่งออกเนื้อโคของประเทศดังกล่าวลดลง จึงเป็นโอกาสทองให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อโคได้มากขึ้น ซึ่งความต้องการของตลาดโลก ในปี 2566 คาดว่าจะมีการบริโภคเนื้อโคปริมาณ 56.846 ล้านตัน โดยสหรัฐอเมริกามีการบริโภคมากที่สุด ปริมาณ 12.185 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ จีน 10.330 ล้านตัน และบราซิล 7.547 ล้านตัน