สืบเนื่องจากการทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต อดีตซีอีโอ บล. กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้นำแถลงนโยบาย เรื่อง “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจปลายด้ามขวานไทย”
และ ดร.สามารถ ได้นำเสนอรายละเอียด เรื่อง “เมกะโปรเจกต์ ดันหาดใหญ่ เชื่อมไทย-เชื่อมโลก” โดยระบุว่า เนื่องเพราะหาดใหญ่มีทำเลยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภาคใต้ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องขับเคลื่อนหาดใหญ่ด้วยระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้หาดใหญ่เป็นขุมทองทางเศรษฐกิจของปลายด้ามขวานไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้
1. โมโนเรล คือรถไฟฟ้า ที่เริ่มต้นจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา สมัยนายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นนายก อบจ. ในการคิดก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลขึ้น โดยระยะที่ 1 มีระยะทางยาว 13 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 16,000 ล้านบาท มี 15 สถานี ประกอบด้วยสถานีควนลัง แยกสนามบิน รถตู้ หาดใหญ่ใน ชุมทางรถไฟหาดใหญ่ ตลาดกิมหยง น้ำพุ หาดใหญ่วิทยาลัย บิ๊กซี คอหงส์ มอ. คลองเรียน เซ็นทรัล คลองหวะ และบ้านพรุ ระยะที่ 2 จะขยายเส้นทางจากสถานีน้ำพุไปยังถนนลพบุรีราเมศร์ และจากสถานีคอหงส์ไปยังสวนสาธารณะหาดใหญ่ ส่วนระยะที่ 3 จะมีเส้นทางเชื่อมระหว่างสถานีหาดใหญ่ในกับสถานีคลองเรียนโดยวิ่งผ่านโรงเรียนพัฒนศึกษาและศูนย์การค้าไดอาน่า
2. รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ รถไฟทางคู่หมายถึงทางรถไฟที่ประกอบด้วยเหล็กรางรถไฟ 4 ราง หรือใช้เหล็กรางรถไฟ 4 เส้น จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ริเริ่มโครงการรถไฟทางคู่ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2536 และจะเดินหน้าก่อสร้างรถไฟทางคู่ต่อไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อรองรับรถไฟจากประเทศมาเลเซียที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร มีมูลค่าโครงการประมาณ 6,700 ล้านบาท พร้อมการเชื่อมต่อไปสู่กรุงเทพฯ กับรถไฟทางคู่ซึ่งดำเนินการสร้างมาถึงชุมพรแล้ว และเมื่อมีรถไฟทางคู่จากหาดใหญ่ถึงกรุงเทพฯ เวลาการเดินทางจะลดลงจาก 16 ชั่วโมง เหลือเพียง 8-10 ชั่วโมงเท่านั้น ประหยัดเวลาลงได้ครึ่งหนึ่ง
3.มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดทำแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ และได้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางแรกของประเทศไทยคือเส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งพรรคจะเดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ต่อไป โดยจะเร่งผลักดันโครงการก่อสร้าง “มอเตอร์เวย์จตุรทิศ” เชื่อมใต้สุดกับเหนือสุด และตะวันตกกับตะวันออกของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ (1) เส้นทางสุไหงโกลก-พัทลุง-ทุ่งสง-นครปฐม ระยะทาง 1,100 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ทุ่งสงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของภาคใต้ (2) เส้นทางด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ-เชียงใหม่-บางปะอิน ระยะทาง 853 กิโลเมตร และ (3) เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 710 กิโลเมตร สำหรับมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดานั้น มีระยะทาง 71 กิโลเมตร วงเงิน 40,787 ล้านบาท
4.สะพานเชื่อมเกาะสมุย โดยจะเกิดขึ้นระหว่างบริเวณด้านใต้ของแหลมทาบ (หรือแหลมประทับ) ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของท่าเรือดอนสักและเป็นพื้นที่ใน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปที่แหลมหินคมบนเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ส่วนรูปแบบสะพานจะเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) มีจำนวน 4 ช่องจราจร หรือข้างละ 2 ช่องจราจร และหากมีสะพานเชื่อมเกาะสมุยจะใช้เวลาข้ามทะเลแค่เพียงประมาณ 20 นาทีเท่านั้น