"ยาถ่าย ยาระบาย" หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผยข้อมูล ยาถ่าย ยาระบาย แก้ท้องผูก ใช้เสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ใช้ถึง 64%
ข่าวที่น่าสนใจ
โดยทางด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ว่า ‘ใช้บ่อย ยาถ่าย ยาระบาย เสี่ยงสมองเสื่อม’ การใช้ยาระบายชนิดเดี่ยวหรือหลายชนิดร่วมกันเพิ่มความเสี่ยงสมองเสื่อม รายงานนี้ ตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา (Neurology) ซึ่งเป็นวารสารทางการของสมาคมประสาทของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2023
ทั้งนี้ เป็นการใช้ข้อมูลนำมาวิเคราะห์ที่ได้จากประชากรมากกว่า 500,000 คน ที่อยู่ในวัยกลางคนจนกระทั่งถึงสูงวัยที่รวบรวมในคลังชีวข้อมูล (Biobank) ของ UK ประเทศอังกฤษ จากคณะทำงานในประเทศจีน ผู้ที่ใช้ยาระบายประเภทที่เรียกว่า osmotic laxatives เป็นประจำมีความเสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ใช้ถึง 64% และคนที่ใช้ยาระบายหนึ่งประเภทหรือมากกว่า ที่เป็นทั้งแบบ bulk-forming แบบ stool softening และ stimulant laxatives มีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 90%
ยาระบายมีหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ยาระบายชนิดที่ดึงน้ำเข้ามาในลำไส้และทำให้อุจจาระเหลวนุ่มขึ้น และถ่ายง่ายขึ้น (oxidative laxatives) อาทิ lactulose polyethylene glycol sorbitol magnesium citrate sodium acid phosphate
- ยาระบายชนิดที่ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มปริมาณขนาดอุจจาระ (Bulk forming laxatives) เช่นยา mucillin metamucil
- ยาระบายชนิดที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น (stool softening หรือ emollient) ช่วยให้น้ำและของเหลวผสมเข้ากับอุจจาระไม่ให้แข็ง เช่น ยา colace docusate sodium arachis oil
- ยาระบายชนิดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ (stimulant laxatives) เช่น bisacodyl ยา dulcolax senna ยา senokot sodium picosulfate กระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อเพิ่มการบีบตัวของลำไส้
ลักษณะการที่มีท้องผูกในระดับต่าง ๆ เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยและสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น และเป็นไปได้ที่การใช้ยาระบายประเภทต่าง ๆ จะทำให้มีการปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียในลำไส้ โดยผ่านกลไกที่ส่งผ่านจากเส้นประสาทของลำไส้ขึ้นไปที่สมอง และจากการที่เสริมให้มีการสร้างสารพิษ (toxins) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบผนังลำไส้รั่วและลุกลามไปทั่วร่างกายและกระทบการทำงานของสมอง
ประชากรที่อยู่ในกลุ่มศึกษาที่รายงานนี้มีจำนวน 502,229 คนโดยที่ 54% เป็นสตรีและทั้งหมดมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี ตอนที่เริ่มการศึกษา โดยทั้งหมดไม่มีอาการของสมองเสื่อมเลยตั้งแต่ต้น คนที่อยู่ในการศึกษา มี 18,335 คน คิดเป็นจำนวน 3.6% ที่มีการใช้ยาระบายที่หาซื้อได้ทั่วไป (OTC over the counter) โดยมีการใช้สม่ำเสมอหลายวันในสัปดาห์ ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่จะเริ่มการศึกษา ระยะการติดตามทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้ว คือ 9.8 ปี โดยที่พบว่ามี 218 ราย หรือ 1.3% ที่ใช้ยาระบายอย่างสม่ำเสมอเป็นสมองเสื่อม ในขณะที่คู่เทียบ จำนวน 1,969 ราย หรือ 0.4% ที่ไม่ได้ใช้ยาระบายเลยเป็นสมองเสื่อม
เมื่อทำการปรับค่าหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่รวมทั้งอายุ เพศ ระดับการศึกษา ภาวะการเจ็บป่วย และยาอื่นๆที่ใช้ รวมกระทั่งถึงประวัติครอบครัวที่มีสมองเสื่อมหรือไม่ พบว่า การใช้ยาระบายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความเสี่ยงของสมองเสื่อมทุกชนิด (all cause dementia) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (adjusted hazard ratio [aHR], 1.51; 95% CI 1.30-1.75) และความเสี่ยงของสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยตันทั่วไปหรือ vascular dementia (aHR, 1.65; 95% CI, 1.21-2.27) โดยที่ไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ ( aHR, 1.05; 95% CI, 0.79-1.40)
ความเสี่ยงของสมองเสื่อมยังขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของยาระบาย สำหรับผู้ที่ใช้ชนิด oxidative laxatives อย่างเดียว ก็มีความเสี่ยงของสมองเสื่อมทุกชนิด โดยมีนัยสำคัญทางสถิติ ( aHR, 1.64; 95% CI, 1.20-2.24) และความเสี่ยงของสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดตัน ( aHR, 1.97; 95% CI 1.04-3.75) อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ขนาดของยาระบายที่ใช้ในประชากรที่อยู่ในการศึกษานี้ว่า จะมีผลทำให้เกิดสมองเสื่อมอย่างไรหรือไม่
ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และสนับสนุนการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสุขภาพของลำไส้ที่เกี่ยวเนื่องกับจุลินทรีย์ และแบคทีเรียตัวดีและตัวร้ายที่กำหนดระบบภูมิคุ้มกันต่อเนื่องไปยังเส้นประสาทและไปกระทบสมอง แต่ในขณะเดียวกัน ยังไม่สามารถที่จะสรุปหรือพิสูจน์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลของการใช้ยาระบายกับการเกิดสมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมา แต่ควรต้องมีการศึกษาในขั้นลึกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในระดับของสัตว์ทดลองและในมนุษย์
เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ยาระบายชนิดและประเภทต่าง ๆ นี้ กลับไม่พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มของสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ โดยที่อาจจะเป็นข้อจำกัดของข้อมูลหรือข้อจำกัดของการระบุชนิดของสมองเสื่อมหรืออาจจะเป็นความจริงที่ไม่เกี่ยวโยงกัน กล่าวโดยสรุปแล้ว เรื่องท้องผูกหรือธาตุแข็ง ที่คนโบราณพูด โดยย้ำกับลูกหลานว่า ถ้าไม่ถ่ายจะมีพิษสะสมลามเข้าไปทั่วตัวน่าจะเป็นเรื่องจริง
และวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การกินผัก ผลไม้ กากใย ให้มาก เป็นประจำสม่ำเสมอวันละหลายมื้อก็ได้ ซึ่งผักผลไม้กากใยปฏิบัติตัวเป็นยาระบายที่วิเศษ แต่มีข้อแม้ว่าต้องดื่มน้ำเยอะด้วยจึงจะได้ผล และแน่นอนว่าต้องปลอดสารเคมีให้ได้มากที่สุด การที่มีท้องผูกนี้เป็นที่สังเกตมาตั้งแต่สมัยหลาย 100 ปีแล้วที่ คุณหมอเจมส์ พาร์กินสัน ได้สังเกตว่าคนไข้ที่ต่อมาเกิดโรคพาร์กินสันนั้น มีท้องผูกนำมาก่อน และในคนที่เกิดเป็นโรคแล้ว เมื่ออาการท้องผูกดีขึ้นโรคหรืออาการพาร์กินสันนั้นก็ดีขึ้นด้วย ทั้งหมดตอกย้ำถึงการดูแลร่างกาย อาหาร การกิน การออกกำลัง ซึ่งถ้าทำได้จะส่งผลดี จากหัวจดเท้าครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
ข่าวที่เกี่ยวข้อง