รฟม.ชี้แจงข่าวลือดีเดย์เปิดเดินรถไฟฟ้า “สีเหลือง-สีชมพู”

รฟม.ชี้แจงข่าวลือดีเดย์เปิดเดินรถไฟฟ้า "สีเหลือง-สีชมพู"

วันนี้ (5 พ.ค.66) กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่ มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 โดยจัดเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท และจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรี รวม 11 วัน ระหว่างวันที่ 21-31 พฤษภาคม 2566 นอกจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือนสิงหาคม 2566 และเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในช่วงปลายปี 2566 นั้น

รฟม. ขอเรียนว่า ขณะนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ อยู่ระหว่างการทดสอบงานระบบเดินรถไฟฟ้าในระบบต่างๆ โดยผู้รับสัมปทานยังต้องแก้ไขในรายละเอียดของงานระบบรถไฟฟ้าหลายๆ ระบบซึ่งจำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลก่อน จึงจะสามารถเสนอให้ รฟม. พิจารณาการเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการในช่วงทดลองการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ซึ่งตามปกติจะต้องใช้เวลาในการทดสอบการเดินรถไม่น้อยกว่า 3 เดือน

ในการนี้ หากผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติงานตามสัญญาร่วมลงทุนฯ และงานระบบรถไฟฟ้าได้ผ่านการตรวจสอบรับรองความปลอดภัยแล้ว รฟม. จะได้แจ้งกำหนดการเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ และกำหนดการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ นั้น ผู้รับสัมปทานได้แจ้งแผนการเปิดให้บริการ โดยผู้รับสัมปทานคาดว่า จะสามารถเริ่มทดลองการเดินรถได้ในเดือนมกราคม 2567 และมีกำหนดการเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางภายในเดือนมิถุนายน 2567 ติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีรูปแบบก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง โดยสายสีเหลือง ระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรวม 23 สถานี และมีศูนย์ควบคุมการเดินรถและอาคารจอดแล้วจรอยู่ที่สถานีศรีเอี่ยม ส่วนสายสีชมพู มีระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรวม 30 สถานี และมีศูนย์ควบคุมการเดินรถและอาคารจอดแล้วจรอยู่ที่สถานีมีนบุรี

– โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง เช่นเดียวกับสายสีชมพู มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย 23 สถานี

ข่าวที่น่าสนใจ

โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานครที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ

จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา โดยแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งในส่วนของโรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง อยู่บริเวณสถานีศรีเอี่ยม

– โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี
เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง ระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วย 30 สถานี

แนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณระหว่าง ศูนย์ราชการนนทบุรีและแยกแคราย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – บางซื่อ) บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จากนั้นจะวิ่งเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าถนนติวานนท์ วิ่งตามถนนติวานนท์จนถึงแยกปากเกร็ด เลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ผ่านศูนย์ราชการ ผ่านทางแยกหลักสี่ เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ ลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีเชื่อมต่อ (Interchange Station) เพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่

จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตามถนนรามอินทรา ยกระดับข้ามทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล จนถึงแยกมีนบุรีแล้ววิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ โดยจะข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและข้ามเข้าถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3 ) จนสิ้นสุดบริเวณทางแยกร่มเกล้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี โดยในส่วนของโรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง อยู่บริเวณสถานีมีนบุรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น