วันที่ 5พ.ค.66 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถิติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงข่าวโพลเลือกตั้งส.ส.ครั้งที่ 7 โดยผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพล เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 400 เขตเลือกตั้งและผลการประมาณการจำนวน 100 ที่นั่งผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ (Net Assessment) จำนวนตัวอย่างในการศึกษาเพื่อประมาณการรวมทั้งสิ้น 14,332 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95
เมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.3 หรือประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 37,431,819 คน จะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 24.7 หรือ ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 15,662.,959 คน จะไม่ไปเลือกตั้ง
ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 400 ที่นั่ง จำแนกตามข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย ยังคงครองภาคอีสานและภาคเหนือ โดยภาคอีสาน ได้จำนวน ส.ส.เขต ทั้งสิ้น 57 ที่นั่ง และภาคเหนือ 24 ที่นั่ง รวมจำนวนทั้งสิ้น 111 ที่นั่ง ในขณะที่ภูมิใจไทย กระจายไปตามภาคต่างๆ ดังนี้ ภาคอีสาน ได้ 36 ที่นั่ง ภาคกลาง 26 ที่นั่ง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ได้ภาคละ 10 ที่นั่ง ภาคตะวันออกได้ 6 ที่นั่ง ภาคเหนือได้ 5 ที่นั่งและ กทม.ได้ 3 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น 96 ที่นั่ง และพรรคก้าวไกลกระจายไปตามภาคต่างๆ ดังนี้ ภาคอีสานได้ 23 ที่นั่ง กทม.ได้ 10 ที่นั่ง ภาคกลาง ได้ 5 ที่นั่ง และภาคตะวันออก ได้ 2 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น 40 ที่นั่ง รายละเอียดของพรรคอื่นๆ พิจารณาได้จากตารางที่ 2