“คีรี กาญจนพาสน์” ส่งมอบ “โรงงานกระดาษ” ให้อบจ.กาญจนบุรี สร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อตอบแทนสังคม

กดติดตาม TOP NEWS

“คีรี กาญจนพาสน์” ส่งมอบ “โรงงานกระดาษ” ให้อบจ.กาญจนบุรี สร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อตอบแทนสังคม

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ นายกองค์การบริหารส่วน จ.กาญจนบุรี จัดพิธีส่งมอบ “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” โดยมี ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการ จ.กาญจนบุรี คณะผู้บริหารกลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัทแรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด และคณะผู้บริหารจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมเป็นเกียรติในงานรับมอบโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี โดยองค์การบริหารส่วน จ.กาญจนบุรี ใช้โรงงานดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชน รวมถึงเป็นอาคารอนุรักษ์เพื่อสังคมของ จ.กาญจนบุรี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวม

 

 

 

 

โดย นายคีรี กล่าวว่า สำหรับการส่งมอบ โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก กลุ่มบริษัทบีทีเอส ตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรม จึงต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ของอาคารโบราณสถานต่าง ๆ เอาไว้ พร้อมส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลังต่อไป โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท บูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถึง 3 แห่ง ประกอบด้วย “โครงการศุ-ลก สถาน โรงภาษีร้อยชักสาม” ซึ่งเป็นอาคารที่มีอายุมากกว่า 130 ปี โดยทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถานให้เป็นโรงแรมมีระดับ ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่อยู่คู่กับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน

 

นอกจากนี้ยังร่วมลงทุน “โรงแรม ยูเชียงใหม่” ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น 2552 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะยังคงโครงสร้างอาคารจวนผู้ว่าการเชียงใหม่ หลังเก่าเอาไว้ภายในโรงแรม และทำการปรับปรุงเป็นเรสซิเดนซ์ เลานจ์ โดยคงไว้ซึ่งความงดงามของศิลปวัฒนธรรมของชาวล้านนา โดยมีการตกแต่งภายในที่มีความทันสมัยเพิ่มเติมเข้าไป สุดท้าย คือ ลงทุนซื้ออาคารสถาปัตยกรรม Sino-Portuguese “คฤหาสน์พระอร่ามสาครเขต” อาคารโบราณสไตล์ชิโน-โปรตุกีส อายุกว่า 100 ปี ย่านใจกลางเมืองเก่า จ.ภูเก็ต โดยกลุ่มบริษัทบีทีเอส เล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย

นายคีรี กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้ผลักดันโครงการเหล่านี้เพื่อสร้างภาพ เพราะตั้งแต่อายุย่างเข้า 60 ปีก็เริ่มสนับสนุนเรื่องการกุศลหลายอย่างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เช่น การสร้างโรงเรียนสอนคนตาบอดมกุฏคีรีวันเขาใหญ่ การสร้างโรงพยาบาลมกุฏคีรีวัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา การจัดตั้งมูลนิธิฟ้าสั่ง และศูนย์ไตเทียมฟ้าสั่ง เพราะรู้สึกว่าเราผ่านอะไรมาเยอะแล้ว จึงบอกตัวเองว่าต่อจากนี้ไปจะต้องทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนสังคม

 

 

ทั้งนี้สไตล์ของตนไม่ชอบการบริจาคเงินแล้วจบกัน แต่อยากสร้างด้วยมือของตัวเอง เพราะกลัวว่าจะไปไม่ถึงคนที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ จึงเลือกที่จะทำเองแล้วค่อยส่งมอบให้ โครงการเหล่านี้ โดยใช้คำว่า “คีรีและเพื่อน” ที่เริ่มทำวันนี้เพราะถ้าปล่อยให้อายุล่วงเลยไปจนถึง 70 – 80 ปี คงไม่มีแรงทำอะไรเพื่อสังคม

 

อย่างไรก็ตามนายคีรี ทิ้งท้ายว่า นอกจากโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี จะเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโบราณที่หาชมได้ยากจนมีการขนานนามให้เป็น “มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย” ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นอุตสาหกรรมของ จ.กาญจนบุรี ที่สำคัญคือโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีเรื่องราวและมีอิทธิพลต่อชาวกาญจนบุรี ในสมัยนั้น ปัจจุบันสภาพทุกอย่างของโรงงานยังคงเดิม ทั้งตัวโครงสร้าง ปล่องควัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรผลิตกระดาษ ซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายของโลกอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น