รัฐฉาน ย้ำ ฝุ่นและหมอกควัน มาจากการเผาป่าไม่ใช่ภาคเกษตร พฤกษ์ รุกข์พสุธา นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

กดติดตาม TOP NEWS

จากรายงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง (Air4Thai) รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2566 ไปในทิศทางเดียวกัน ว่า กรุงเทพฯ-ปริมณฑล คุณภาพอากาศดี-ดีมาก จากฝนที่ตกลงมาช่วยชะล้างฝุ่น และควันไปได้ โดยเชียงใหม่ เชียงราย สภาพอากาศดีขึ้นในระดับสีฟ้า (ดีมาก) ส่วนจังหวัดที่ยังอยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพ (ระดับสีส้ม ซึ่งลดระดับจากสีแดง) คือ น่าน (ต.ในเวียง อ.เมือง) และมีบางจังหวัดในภาคอีสานเช่น จ.มุกดาหาร (ต.มุกดาหาร อ.เมือง) ส่วนปัญหาพรรคการเมือง เป้าหมายเปลี่ยนช่วงโค้งสุดท้ายไม่มีการพูดถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 มุ่งหน้าหาเสียงเพราะหวังผลจัดตั้งรัฐบาล..ต้องจับตาดู

สำหรับประเทศเมียนมา ซึ่งถูกพาดพิงว่าเป็นต้นทางของหมอกควันข้ามแดนนั้น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว The People’s Voice เว็บไซด์ข่าวของเมียนมา ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงของหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย และปัญหาหมอกควันข้ามแดนมาจากเมียนมา โดยสื่อดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในเมียนมา มาจากการเข้าไปหาของป่าของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับเกษตรกรในพื้นที่สูงกำลังกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

 

จากลักษณะภูมิประเทศและข้อมูลจากดาวเทียม แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของรัฐฉาน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าคิดเป็น 80-85% ของพื้นที่รัฐฉานทั้งหมด ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมีเพียง 3-5% เท่านั้น ที่เหลืออีก 12% เป็นทุ่งหญ้า ดังนั้น จุดความร้อนและฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจึงมาจากพื้นที่ป่าเป็นหลัก

ทั้งนี้ เกษตรกรปลูกข้าวโพดรายหนึ่งในพื้นที่รัฐฉาน กล่าวว่า เกษตรกรทราบดีว่าการเผาหลังเก็บเกี่ยวจะทำให้ดินเสียหายและเสื่อม ซึ่งมีเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการปลูกพืชแบบไม่เผาหลังเก็บเกี่ยวแล้ว และการเผาในพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมปลูกพืชในฤดูฝน มีพื้นที่น้อยกว่าพื้นที่ป่ามาก จึงไม่น่าเป็นต้นเหตุหลักของการเกิดจุดความร้อนในรัฐฉาน นอกจากนี้ ภาคเอกชนในเมียนมาประกาศซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงพื้นที่ปลูกตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อยืนยันว่าการจัดซื้อผลผลิตมาจากแหล่งปลูกที่ไม่บุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและไม่เผาหลังเก็บเกี่ยว

สื่อเมียนมายังให้ข้อมูลอีกว่า ไฟป่าในพื้นที่รัฐฉานและบริเวณใกล้ชายแดนติดประเทศไทยเกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ที่มีอากาศร้อนจัด จึงมีความเป็นไปได้ที่มีใบไม้แห้งจำนวนมากกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีของการเกิดไฟป่า รวมถึงการลักลอบเผาเพื่อหาของป่า จึงเกิดจุดความร้อนสูงในบริเวณดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบของเมียนมาและประชาชนในพื้นที่กำลังร่วมกันหาแนวทางลดฝุ่นละอองเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่มาโดยตลอด

ด้านบริษัทที่ถูกพาดพิงในการหาเสียงทางการเมือง ว่าเป็นต้นเหตุของฝุ่นควันจากการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และขายเมล็ดพันธุ์ทำให้มีการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูก โดยไม่มีการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูก สื่อดังกล่าวให้ข้อมูลว่า บริษัทใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด (corn traceability) ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อยืนยันการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 100% ในประเทศไทย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกmujมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และรณรงค์ผู้ปลูกข้าวโพดรายย่อยให้ใช้วิธีการไถกลบหลังเก็บเกี่ยวแทนการเผา สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อติดตามแปลงเพาะปลูก ช่วยในการวิเคราะห์จุดที่ยังพบการเผาหลังเก็บเกี่ยว เพื่อลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรให้เลิกการเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยวได้ตรงเป้าหมาย และนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) มาเชื่อมโยงข้อมูลผลผลิตข้าวโพดตั้งแต่แปลงเพาะปลูกถึงโรงงานอาหารสัตว์ ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชั่น
ฟ.ฟาร์ม (For Farm) เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนยืนยันตัวตนและพื้นที่ปลูกของเกษตรกร ทำให้เกิดความแม่นยำในการตรวจสอบและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม สังคมคงต้องจับตาดูแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน ของรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามที่หาเสียงกันไว้หรือไม่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะคลอดออกมาได้หรือไม่ และการห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ต้องหาทางออกให้ภาคปศุสัตว์ด้วยจะหาส่วนที่ขาดแคลนอีก 3 ล้านตันจะมาจากที่ไหน การหารือระดับภูมิภาคอาเซียนที่มีข้อตกลงด้านหมอกควันข้ามแดน แต่ประเทศสมาชิกไม่นำมาปฏิบัติจะมีบทลงโทษอย่างไร หรือแม้แต่การเผาตอซังในนาข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุหลักของฝุ่นละออง ในประเทศ จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนพระพิรุณท่าน ด้วยการเร่งให้ฝนตกเพื่อชะล้างปัญหาที่เกิดขึ้นแทนการหาทางแก้ปัญหาแบบบูรณาการและยั่งยืน./

Facebook The People’s Voice : https://www.facebook.com/612819968887929/posts/2319028611600381/?sfnsn=mo&mibextid=RUbZ1f

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น