วันนี้ (11 พ.ค.66) รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งว่า ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น ชี้ให้เห็นถึงความเข้มเเข็งของภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นแม้จะติดลบ แต่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า หากเศรษฐกิจไทยมีภาพความชัดเจนและปรับตัวอย่างโดดเด่นภายใต้สถานการณ์การเมืองที่นิ่งและเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา เศรษฐกิจก็พร้อมที่จะฟื้นตัวขึ้นและเข้มแข็งขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากในส่วนของภาคประชาชนนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ดีสุด ตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 แต่ยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เชื่อว่า ในเรื่องการใช้เงินในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ประชาชนมีความพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ บ้าน
ขณะเดียวกัน ประชาชนยังคงกังวลในเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงรายได้ที่มีไม่มาก และบรรยากาศโดยรวมของโลกที่อาจส่งผลกระทบให้แก่ประเทศไทย รวมถึงความห่วงใยในเรื่องของบรรยากาศทางการเมือง
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า ในส่วนของการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 5-6 หมื่นล้านบาท สังเกตุได้จากการที่ธปท.ได้มีข้อมูลออกมาว่ามีเม็ดเงินในระบบเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 5 หมื่นล้านบาท จึงเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะมีความคึกคัก เป็นผลมาจากการที่ทุกพรรคการเมืองแข่งขันเพื่อได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และเชื่อว่าในช่วงโค้งสุดท้ายการแข่งขันจะมีความเข้มข้นมากขึ้นและมีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ ก่อนลงคะแนนเสียง และจะเป็นพลังสำคัญให้ประชาชนมีการใช้จ่ายต่อเนื่องในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และมีเม็ดเงินสะพัด 2-3 หมื่นล้านบาทในระยะนี้ รวมถึงมีเม็ดเงินหมุนอยู่ในระบบประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท เป็นฐานในการจับจ่ายใช้สอยในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ในช่วงของหลังการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังไม่เห็นทิศทางว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาล และจะมีแนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่อย่างไร ดังนั้น ในช่วงของสุญญากาศทางการเมือง จะเป็นรอยต่อที่สำคัญ และเชื่อว่าการผสมผสานระหว่างรัฐบาลผสม หรือรัฐบาลเสียงข้างมาก หรือรัฐบาลอย่างไรก็ตาม กว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลและมีนายกรัฐมนตรีการเสนอต่อรัฐสภา การเสนอแนวนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาคาดว่าจะเป็นในช่วงของเดือน ก.ค -ส.ค. ซึ่งหลังจากมีรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว จะต้องรอดูว่า ในส่วนของงบประมาณ จะมีการพิจารณากลั่นกรองใหม่หรือไม่ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมถึงการพิจารณาจากรัฐสภาหรือไม่ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าจะใกล้เคียงสิ้นปี ทำให้การใช้เม็ดเงินเพื่อขับเคลื่อนนโยบายแผ่นดินจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 67