ดร.เควิน ฮิวสัน ศาสตราจารย์พิเศษด้านเอเชียศึกษา ของเวลดอน อี. ธอร์นตัน แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ว่า การเลือกตั้งในเมืองไทยครั้งนี้ เป็นเดิมพันที่ค่อนข้างแข็งแกร่งสำหรับพรรคเพื่อไทย ที่ต้องชนะคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด แต่การเลือกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น จะทำร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง ที่ได้รับการเลือกตั้ง และวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้ง 250 ที่นั่ง ซึ่งด้วยวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเมื่อหลายปีก่อนยังคงอยู่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะควบคุมคะแนนเสียงจำนวนมากเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ เหล่าส.ว. ก็กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างมาก ที่จะต้องยอมรับเจตนารมณ์ของประชาชน และเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
ดร. ฮิวสันกล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายได้ที่นั่งเพียงพอ เพื่อไม่ต้องตั้งรัฐบาลผสม แต่ก็มีการตั้งเงื่อนไขไว้เช่นกันหากมีการจับมือร่วมรัฐบาล โดยเงื่อนไขคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้กระทรวงใหญ่ๆ เป็นของส.ส. เพื่อไทย ประเด็นต่อมาคือ เมื่อรวมกันจนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ต้องไม่ควรมีการปฏิรูปมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในส่วนใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นข้อถกเถียงอย่างมาก และมีการอภิปรายเป็นประเด็นหลักๆ ของทุกฝ่าย ในระหว่างการหาเสียงครั้งนี้ ซึ่งฉันทามติส่วนมากเห็นว่า แทนที่จะยกเลิกมาตรา 112 ก็ควรให้เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากก้าวไกล เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ก็มีโอกาสเกิดการเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ต่อวิธีการบังคับใช้กฎหมาย
ด้านดร. เจมส์ อ็อกกี รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี ของนิวซีแลนด์ ก็ให้สัมภาษณ์กับ CNA ว่า การเลือกตั้งของไทยค่อนข้างน่าสนใจ ในแง่ที่ว่า ชัยชนะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครได้คะแนนเสียงมากที่สุด และใครได้ที่นั่งมากที่สุด โดยสังเกตได้จาก จำนวนที่นั่งมากที่สุดมักตกเป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากการแทรกแซงบางอย่าง นอกจากนี้ ในส่วนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็มีความกังวลว่า พรรคเพื่อไทยอาจยอมก้าวข้ามไปจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับกลุ่มทหาร แม้พวกเขาจะบอกว่าไม่ทำเช่นนั้น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า จะมีคนเชื่อมั่นในเรื่องนี้