นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคม จำนวน 7,787คน และติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12
จากข้อมูลกลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุด ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่แนะนำสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น แต่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ประเทศไทยมีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี จำนวน 5,196,248 คน พบติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 1 เมษายน-14 สิงหาคม 2564 จำนวน 41,832 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 คน ซึ่งทุกคนเป็นกลุ่มเด็กป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น พิการทางสมอง มะเร็ง และหัวใจ เป็นต้น ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย สามารถให้เด็กเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำได้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA และที่มีใช้ในประเทศไทยในขณะนี้เป็นของ Pfizer-BioNTech โดยก่อนไปรับบริการให้สอบถามและประสานนัดหมายกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ประกาศให้บริการในพื้นที่นั้นๆ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่ออีกว่า การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 ของเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ยังคงยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1. เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที 2. สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน พร้อมทั้งงดการรวมกลุ่มกับเพื่อน เปลี่ยนเป็นการติดต่อผ่านโทรศัพท์ หรือผ่านระบบออนไลน์แทน 3.หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ เจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ และ 4.ประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากพบมีความเสี่ยงสูงให้แจ้งผู้ปกครองทันที