ยอดผู้เสียชีวิตจากไซโคลนโมคาในเมียนมาเพิ่มเป็น 29 ราย ด้านนักวิทย์ฯชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไซโคลนรุนแรงและมีอำนาจทำลายล้างมากขึ้น
หลังจากไซโคลนโมคาพัดขึ้นฝั่งที่เมืองชิตตเว รัฐยะไข่ ของเมียนมา และเมืองค็อกซ์บาซาร์ของบังคลาเทศ ด้วยความแรงลมสูงสุดถึง 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดที่ระดับ 5 เมื่อวันอาทิตย์ ได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง ทำให้ทุกภาคส่วนต่างเร่งทำงานเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย ในขณะที่เอเอฟพีรายงานยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดในเมียนมาที่ 29 คน
โดยหัวหน้าค่ายโรฮิงญา ที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ จากหมู่บ้านทางตะวันตกเฉียงเหนือของซิตตเว ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวโรฮิงญาและค่ายผู้พลัดถิ่น บอกกับเอเอฟพีว่า มีผู้เสียชีวิต 24 คน และคาดว่ามีคนจำนวนหนึ่งสูญหาย ส่วนทางการระบุว่า ในเมืองชิตตเว มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย และชาวบ้านบางส่วนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้พายุยังทำให้บ้านเรือนกว่า 860 หลังและสถานพยาบาล 14 แห่งได้รับความเสียหาย รวมถึงการสื่อสารถูกตัดขาด
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศชี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พายุไซโคลนนั้นมีความรุนแรงและทรงพลังยิ่งขึ้น อย่างที่ได้เห็นจากไซโคลนโมคา โดยรายงานของ WWA หน่วยงานด้านสภาพอากาศและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสภาพอากาศระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้ทำให้จำนวนพายุเพิ่มมากขึ้น แต่มันจะเพิ่มขีดความรุนแรง ทำให้ความถี่ของการเกิดพายุในระดับ 3-5 โดย 5 คือระดับสูงสุด มีความถี่มากขึ้น โดยโลกที่ร้อนขึ้น จะทำให้อากาศและมหาสมุทรอุ่นขึ้น และกระตุ้นให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส สามารถทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคาดว่า จะเห็นพายุไซโคลนในสถานที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากความร้อนของโลกกำลังแผ่ขยายพื้นที่ออกไป และคาดการณ์ว่าพายุเขตร้อน จะเคลื่อนตัวออกห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากขึ้น