แม้การศึกษามากมายจะมุ่งเน้นความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่หลากหลาย ทว่าปัจจัยต่างๆ อาทิ จุดตกหล่นในการออกแบบการศึกษา การตรวจวัดผลที่แตกต่างกัน และผลการค้นพบอันไม่สอดคล้องล้วนทำให้การสรุปผลอย่างชัดเจนเป็นเรื่องยาก
นักวิจัยจากโรงพยาบาลเวสต์ ไชน่าของมหาวิทยาลัยซื่อชวน (เสฉวน) ดำเนินการค้นหา อนุมาน และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากผลการวิจัยเชิงสังเคราะห์ที่ได้รับการเผยแพร่ และการวิเคราะห์อภิมานความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน โดยแหล่งข้อมูลของทีมวิจัยประกอบด้วยพับเมด (PubMed) เอ็มเบส (Embase) เว็บ ออฟ ไซเอนซ์ (Web of Science) คอเครน ดาตาเบส ออฟ ซิสเทมมาติก รีวิวส์ (Cochrane Database of Systematic Reviews) และการค้นหารายการอ้างอิงเพิ่มเติม
นักวิจัยพบความเชื่อมโยงที่เป็นอันตรายอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการบริโภคน้ำตาลกับผลลัพธ์ต่อต่อมไร้ท่อ/การเผาผลาญ 18 รายการ ผลลัพธ์ต่อหัวใจและหลอดเลือด 10 รายการ ผลลัพธ์ต่อมะเร็ง 7 รายการ และผลลัพธ์อื่นๆ 10 รายการ (ระบบประสาท ฟัน ตับ กระดูก และภูมิแพ้) ภายหลังการวิเคราะห์บทความวิจัยที่เกี่ยวข้อง 8,601 ฉบับ
อนึ่ง ผลลัพธ์ของการศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารบริติช เมดิคอล เจอร์นัล (British Medical Journal)
คณะผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าหลักฐานของความเชื่อมโยงที่เป็นอันตรายระหว่างเครื่องดื่มมีน้ำตาลกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว น้ำตาลปรุงแต่งกับการสะสมไขมันผิดที่ (ectopic fat) เครื่องดื่มมีน้ำตาลกับโรคอ้วนในเด็ก เครื่องดื่มมีน้ำตาลกับโรคหลอดเลือดหัวใจ และเครื่องดื่มมีน้ำตาลกับโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มเชื่อถือได้มากกว่าความเชื่อมโยงผลลัพธ์อื่นๆ ขณะที่หลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคน้ำตาลกับมะเร็งยังคงมีจำกัดและต้องการการวิจัยเพิ่มเติม
นักวิจัยแนะนำให้ปรับลดการบริโภคน้ำตาลจากกระบวนการแปรรูปหรือน้ำตาลปรุงแต่ง เหลือต่ำกว่า 25 กรัมต่อวัน (ราว 6 ช้อนชาต่อวัน) และจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้น้อยกว่าหนึ่งหน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ (ราว 200-355 มิลลิลิตรต่อสัปดาห์) พร้อมกล่าวว่าการผสมผสานการศึกษาด้านสาธารณสุขเข้ากับนโยบายต่างๆ ทั่วโลกเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคน้ำตาล โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเด็กและวัยรุ่น
เครดิต: ซินหัว