ธนวรรธน์ห่วงโควิดทำบริโภคลด 20 % ประเมินเสียหายเดือนละแสนล้าน แนะรัฐใช้งบ 2.5 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะยาวถ้าไม่ฟื้นเสนอกู้งบ 5 แสนล้านพยุงเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ “ท็อปนิวส์” ถึงการประเมินความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่ต้นตอมาจากสถานบันเทิง โดยระบุว่า เบื้องต้นมีการประเมินความเสียหายว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดทำให้ประชาชนหยุดการบริโภคราว 5-10 % ซึ่งโดยปกติคนไทยจะมีการใช้สอยปกติอยู่ที่วันละ 10,000 – 20,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นเมื่อหยุดการบริโภคลงไป 5-10 % เงินก็จะไปหายไปวันละ 1,000 -2,000 ล้านบาทต่อวัน เฉลี่ยก็ประมาณเดือนละ 30,000 -50,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มันรวมเรื่องการท่องเที่ยวปกติและการไปเที่ยวสถานบันเทิงกลางคืนด้วย ทั้งนี้เราคาดว่าสถานการณ์โควิดจะอยู่ราว 2 เดือนตรงนี้ก็จะทำให้เงินหายจากระบบไปราว 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังรัฐบาลมีมาตรการต่างๆออกไป โดยปกติจะใช้เวลาราวหนึ่งเดือนครึ่งถึงสองเดือนสถานการณ์ต่างๆก็จะค่อยๆดีขึ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง อันนี้เทียบเคียงจากการระบาดเมื่อ21 มี.ค. ถึง 12 เม.ย. 2563 หรือการระบาดที่มหาชัยสมุทรสาครเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพอเดือนก.พ.ทุกอย่างก็ดีขึ้น เพราะฉะนั้นภายใต้สมมุติฐานเดียวกันการระบาดรอบนี้ราวกลางเดือนพ.ค.ทุกอย่างก็น่าจะคลี่คลายเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นห่วงในตอนนี้คือหากรัฐบาลคุมสถานการณ์ไม่อยู่แล้วปล่อยให้การระบาดเพิ่มมากขึ้นเกินพันคนเหมือนอย่างวันนี้และคนติดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือหากปล่อยให้การระบาดนาน 3-4 เดือนตรงนี้ก็อาจทำให้การประชาชนหยุดการจับจ่ายใช้สอยการบริโภคอาจลดลงถึง 20 % ตรงนี้จะทำให้เกิดความเสียหายเฉลี่ยเดือนละ 1แสนล้านบาท ถ้าปล่อยให้ระบาดนาน 4 เดือนความเสียหายก็จะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท อันนี้เป็นการมองในแง่สถิติแต่ของจริงต้องดูการติดเชื้อเป็นรายวันและองค์ประกอบอื่นๆด้วย
ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ข้อเสนอถึงรัฐบาลหลังจากการแพร่ระบาดชะลอตัวลงหรือรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้แล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำทันที คือ 1.รัฐบาลต้องควบคุมสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิดให้อยู่อย่าปล่อยให้ระบาดนานเกินไป 2. การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกภาคส่วนโดยเร็วในอัตราที่ต้องเร่ง 3.การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การต่อมาตรการเดิมที่เคยทำไว้ เช่น คนละครึ่ง ไทยด้วยกัน โดยเน้นการท่องเที่ยวระหว่างสัปดาห์ จันทร์ถึงศุกร์ให้มากขึ้นกระตุ้นการจ้างงาน จัดสัมมนาในพื้นที่ ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ต้องใช้แรงกระตุ้นจากมาตราการที่มาจากงบ 2.5 แสนล้านบาทในส่วนของการพื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาสังคม รวมทั้งผลักดันให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศ 4.เร่งใช้งบประมาณของอปท.ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้นเพื่อเกิดการจ้างงานในพื้นที่ ภาครัฐเร่งการลงทุน 5. การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวจากต่างประเทศในพื้นที่ Sand Box หรือในพื้นที่เดิมที่วางไว้ อาทิ ภูเก็ต สมุย ฯลฯ รวมทั้งเร่งฉีควัคซีนเกิน 50 % ให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อให้พื้นที่ปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ได้ง่ายๆ และ 6. หากจำเป็นถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นหรือฟื้นไม่มากรัฐบาลอาจต้องพิจารณากู้เงินเพิ่ม ถ้าดูจากตัวเลขที่หายไปเดือนละแสนล้านบาทหากประชาชนลดการบริโภคไป 20 % รวมถึงหากอนาคตไม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้เดือนละ 1-2 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นหากเราไม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้และไม่สามารถทำให้คนไทยกลับมาจับจ่ายใช้สอยได้ คิดว่าวงเงิน 5 แสนล้านบาทอาจจะต้องมีการกู้เพื่อเอามาใช้ในครึ่งปีหลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจ