วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความพร้อมการเตรียมงาน”ประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน “ ประจำปี 2566 คาดว่าจะมีประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมงานนับหมื่นคน โดยทางอำเภอด่านซ้ายได้กำหนดการจัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2566 ณ ลานวัฒนธรรม ถนนกระแก้วอาสา หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จ.เลย จึงรายงานมาเพื่อร่วมประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวกับการเตรียมความพร้อมของงานและความพร้อมวางแผน โปรแกรม เพื่อเข้าร่วมงานดังกล่าวนี้มาล่วงหน้าปีนี้จัดยิ่งใหญ่เนื่องจากการผ่อนคลายสถานการณ์โรคโควิด-19
นายนที พรมภักดี นายอำเภอด่านซ้าย กล่าวว่า งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขนเป็นงานประเพณีประจำปีของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยเป็นงานที่มีบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และมีชื่อเสียงอย่างมาก เป็นงานประเพณีประจำปีของชาวอำเภอด่านซ้าย ที่มีบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทย การละเล่นผีตาโขน เป็นงานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าจัดขึ้นตั้งแต่ยุคใด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จึงทำให้งานประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย โดยเป็นการนำโดยนำงานบุญหลวง หรือ บุญผะเหวด งานบุญบั้งไฟ งานบุญซำฮะ (สะเดาะเคราะห์บ้านเมือง) และการละเล่นผีตาโขนมารวมเป็นงานเดียวกัน เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์
ประวัติของการละเล่นผีตาโขน มีมาหลายร้อยปีที่อำเภอด่านซ้าย โดยได้รับอิทธิพลจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดกในพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองหลวง บรรดาสัตว์ป่ารวมถึงภูตผีที่อาศัยอยู่ในป่านั้น จึงออกมาส่งเสด็จด้วยความอาลัยเรียกว่า “ผีตามคน” แล้วเพี้ยนมาเป็น “ผีตาโขน” เช่นทุกวันนี้ เทศกาลผีตาโขนในแต่ละปีจะจัดวันไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับการเข้าทรงกำหนดวันของ “เจ้าพ่อกวน” และ “เจ้าแม่นางเทียน” ผู้นำทางพิธีกรรม เมื่อรู้กำหนดวันจัดงานบุญหลวงแล้ว (ซึ่งมักตรงกับเดือนกรกฎาคม) ชาวบ้านจะเริ่มตระเตรียมงานกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่วัดโพนชัยซึ่งเป็นศูนย์กลางของการจัดงาน