นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนเมษายน 2566 พบว่า มีแรงงานข้ามชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม อยู่ในช่วงดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่จำนวน 1,912,031 คน เป็นกัมพูชา 274,287 คน ลาว 92,301 เมียนมา 1,543,355 และเวียดนาม 2,088 คน โดยแรงงานจำนวนดังกล่าวต้องดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 แต่ล่าสุดรัฐบาลยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มแรงงานที่ดำเนินการไม่ทันกำหนด ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการดำเนินการต่อหนังสือเดินทางหรือเอกสารแสดงตนชั่วคราว (CI) ที่ไม่สามารถรองรับผู้ขอใช้บริการจำนวนมากได้
ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลจากประเทศต้นทางอย่างเมียนมาได้เข้ามาตั้งศูนย์ออก CI ในบ้านเราเพื่ออำนวยความสะดวกก็ตาม แต่พบว่าขั้นตอนที่หลากหลายหลังจากที่ไม่มีการเปิดศูนย์บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service Centers) เหมือนก่อนยุคโควิด เอกสารเดินทางแรงงานข้ามชาติที่ทยอยหมดอายุ และการต่อใบอนุญาต มีค่าใช้จ่ายที่สูง หรือเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามกระบวนการ MOU ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติที่หลุดออกจากระบบแต่ยังคงทำงานอยู่ในประเทศไทยจะยังมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งกฎหมายกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่อยูในประเทศมาแล้ว 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางก่อน และค่อยกลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU ซึ่งจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงและกรอบระยะเวลาในการนำเข้าแรงงานตาม MOU รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สภาองค์กรนายจ้างฯ มองว่า เป็นปัจจัยที่ไม่เกื้อหนุนให้แรงงานข้ามชาติ กลับเข้าทำงานในประเทศไทยได้ถูกต้องตามกฎหมาย