วันที่ 23 พ.ค. 66 บรรยากาศชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มราษฎร ที่นัดหมายทำกิจกรรมเพื่อ เรียกร้องให้ ส.ว. ร่วมโหวต ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันที่ประชุมวุฒิสภา ภายใต้หัวข้อ “ส.ว.ต้องไม่สวนมติประชาชน” โดยกิจกรรมเริ่มขึ้นประมาณ 18.00น. เป็นรูปแบบเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงหลักการและเหตุผลว่าทำไมถึงต้องให้ ส.ส.สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นักวิชาการ ทั้งนายอุเชน เขียงเสน /นายอนุสรณ์ อุณโณ และ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ โดยช่วงหนึ่งมีการพูดถึงช่วงเวลานี้ที่มองว่า เป็นโอกาสของประชาธิปไตย
จากนั้นทางตัวแทนของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้อ่านแถลงการณ์ ที่ขอให้ สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงมติเห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า
สืบเนื่องจากวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกล ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 152 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆในการจัดตั้งรัฐบาลรวมกันได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ
จึงหมายความว่าพรรคก้าวไกล มีสิทธิอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภาบางท่าน แสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยในการเลือกนายกรัฐมนตรีอที่มาจากเจตจำนงค์และความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน
ด้วยท่าที่ของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน ที่ปฏิเสธเจตจำนงของประชาชน นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อสมาชิกวุฒิสภา ในการดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ประชาชนไม่ว่าจะมีฐานะ หรือสถานภาพแตกต่างกันก็ ล้วนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน
ทั้งนี้ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิกวุฒิสภา จึงขอให้ สมาชิกวุฒิสภา เคารพเจตจำนงของประชาชน โดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบ ให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน
เพื่อให้การกระทำที่สง่างามและตามหลักการของประชาธิปไตยในครั้งนี้ ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย