ทัพ ‘ทุเรียนไทย’ บุกตลาดหนานหนิงของจีน ยอดขายพุ่งทะยาน

หนานหนิง, 23 พ.ค. (ซินหัว) – ตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน มีชีวิตชีวาตั้งแต่ยามเช้ามืด รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์คันใหญ่วิ่งเข้าออกและหยุดจอดขนถ่ายสินค้าหน้าแผงทุเรียน โดยมีผู้ซื้อจับกลุ่มรออยู่ก่อนแล้ว

บรรดาพ่อค้าแม่ขายรายใหญ่ต่างคึกคักกระปรี้กระเปร่าหลังจากเข้าสู่ “ฤดูทุเรียน” ซึ่งปีนี้ทุเรียนไทยบุกตลาดจีนเร็วกว่าปีก่อน โดยทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีจะถูกเก็บเกี่ยวและขนส่งถึงชั้นวางสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วแผ่นดินใหญ่ของจีนภายในเวลาเพียงราวหนึ่งสัปดาห์

ตัวอย่างเช่น “ทุเรียนซีพี เฟรช” (CP Fresh) ถูกขนส่งถึงจีนและกระจายสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อทุเรียนคุณภาพดีและสดใหม่ที่สุด โดยซีพีเอฟ (CPF) จัดสารพัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุเรียนหมอนทองหอมหวาน ดึงดูดผู้บริโภคมาซื้อไม่ขาดสาย

“ทุเรียนซีพีมีคุณภาพสูง รสชาติดี แถมมีการชดเชยและสับเปลี่ยนถ้าเจอทุเรียนลูกที่ไม่ดี ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายใจ” ชายแซ่ลู่ ชาวนครหนานหนิงของกว่างซีกล่าว

เหลียงซูถิง ประธานซีพีเอฟ สาขาหนานหนิง เผยว่ายอดจำหน่ายทุเรียนเฉลี่ยรายวันช่วงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสูงเกิน 100 กล่อง โดยหลายปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมทุเรียนแบบครบวงจร กำหนดมาตรฐานของสินค้า ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือน “รับประทานทุเรียนกลางสวนในไทย”

อนึ่ง จีนเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยทุเรียนครองตำแหน่ง “ราชาผลไม้นำเข้า” ของจีนตั้งแต่ปี 2019 และปริมาณการนำเข้าในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน มูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นทุเรียนไทยถึง 7.8 แสนตัน

กวนฉ่ายเสีย ผู้ค้าขายทุเรียนมานานหลายปี และเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ ได้ร่วมมือกับโรงงานไทยในการออกแบบแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีการใช้อักษรจีน “ปั้ง” (棒) ตัวใหญ่เตะตาบนกล่องทุเรียน ซึ่งกวนชี้ว่าสอดคล้องกับคุณภาพ “ยอดเยี่ยม” ของทุเรียนไทย

การคลุกคลีอยู่กับการค้าขายทุเรียนไทยมานานถึง 20 ปี ทำให้กวนได้เห็นการเติบโตของทุเรียนไทยในจีน และเชื่อว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดจีน รวมถึงมีข้อได้เปรียบจากความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

ข้อมูลจากตลาดฯ ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนในตลาด 32 ราย ยอดค้าส่งในปีก่อนอยู่ที่ 24,000 ตัน ส่วนยอดจำหน่ายในปีนี้อยู่ที่ 17,000 ตัน เมื่อนับถึงวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยทุเรียนหมอนทองของไทยมียอดจำหน่ายสูงสุด

โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กว่างซี โยวเซียนหยวน อะกรีคัลเจอรัล เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้อาเซียนสู่จีนจำนวนมาก เผยว่าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยมียอดจำหน่ายดีมาก แต่ละวันนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ 5-6 ตู้ บางช่วงสูงถึง 10 ตู้ และอาจสูงขึ้นอีกในอนาคต

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานผลไม้อาเซียนอย่างทุเรียน มะพร้าว และลำไย โดยบริษัทฯ ทำการค้าส่ง การจำหน่ายผ่านไลฟ์สตรีมมิง และการวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ปีนี้บริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยราว 15,000-20,000 ตัน หรืออาจแตะ 25,000 ตัน” โม่กล่าว

แต่ละปีทุเรียนไทยเริ่มส่งออกสู่ตลาดจีนในเดือนเมษายน และพุ่งแตะระดับสูงสุดช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

“ครอบครัวของผมซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยเป็นประจำ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ชอบรับประทานกันมาก ราคาและคุณภาพของทุเรียนในปีนี้น่าพอใจมากๆ จนอาจจะได้ซื้อบ่อยขึ้น” เหลียงเจ๋อหลิน ชาวเมืองหนานหนิงกล่าว

เฮ่อเยี่ยน รองผู้จัดการร้านค้าปลีกแซมส์คลับ เผยว่าสินค้าทุเรียนเป็นที่ต้องการมากทุกวัน โดยทุเรียนที่ขนส่งมาถึงใหม่ๆ มักจะขายหมดภายในครึ่งวัน ทำให้ร้านค้าต้องกำหนดเพดานการซื้อของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งแห่มาซื้อกันตั้งแต่หัววัน

“ปีนี้ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมาก มีราคาเหมาะสม ครอบครัวทั่วไปล้วนอยากซื้อไปรับประทาน” จางอี้เฉียว จากบริษัท การค้านำเข้าและส่งออกหนานหนิง เจี๋ยรุ่ย จำกัด กล่าว โดยบริษัทฯ ยังทำธุรกิจค้าส่งทุเรียนในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองเจียซิงของเจ้อเจียงด้วย

จางกล่าวว่าหากดูจากตลาดหลายแห่งพบยอดจำหน่ายทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่ละวันบริษัทฯ สามารถจัดจำหน่ายทุเรียนตามตลาดแห่งต่างๆ ราว 3-4 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนหมอนทองขายดีที่สุด ส่วนทุเรียนกระดุมทองราคาแพงกว่าแต่ก็ขายดีเช่นกัน

ทั้งนี้ “ทุเรียน+มังคุด” เป็นผลไม้ที่มักขายได้คู่กันตามตลาดหลายแห่ง โดยลูกค้าที่มาซื้อทุเรียนมักซื้อมังคุดด้วย โดยจางอธิบายว่าชาวจีนตอนใต้ไม่น้อยมองว่าทุเรียนเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน การรับประทานมังคุดที่เป็นผลไม้ฤทธิ์เย็นจะช่วยลดฤทธิ์ร้อนดังกล่าว

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนอาเซียนได้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแหล่งทุเรียนนำเข้าหลัก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวจีนมองหาทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ๆ มาลองลิ้มชิมรสชาติกันเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านโม่เจียหมิงเสริมว่าบริษัทฯ มุ่งปรับปรุงโครงสร้างผลิตภัณฑ์ มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานรับซื้อทุเรียนในเวียดนาม 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ และหลังจากหมดฤดูทุเรียนตะวันออกของไทย จะหันไปนำเข้าทุเรียนเหนือและทุเรียนใต้ของไทย ควบคู่กับทุเรียนเวียดนามบางส่วน

การก่อสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ เส้นทางตะวันตก การเปิดใช้ทางรถไฟจีน-ลาว และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงไม่นานนี้ ช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นและเกื้อหนุนการค้าข้ามภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น “ทุเรียนไทย” นอกจากถูกนำเข้าสู่จีนทางอากาศ ยังมีการนำเข้าทางบก รวมถึงทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังของจังหวัดชลบุรีไปยังท่าเรือชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และท่าเรือหนานซาของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) อีกด้วย

“ยามสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกทยอยคลี่คลาย มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออก ช่วยให้ทุเรียนเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” กวนฉ่ายเสียกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการนำเข้าทุเรียนผ่านด่านบกโหย่วอี้ในกว่างซี ซึ่งถูกขนส่งต่อทางถนนและทางรางในจีน

ปัจจุบันทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่เข้าถึงหลายครอบครัวทั่วไปในจีน แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีผู้บริโภคกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่มเล็กเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการพัฒนาการค้าเสรีและการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
เครดิต: ซินหัว

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เกาหลีใต้สั่งอพยพประชาชนหนีตายไฟป่า
สหรัฐถล่มศูนย์กักกันชาวแอฟริกาที่เยเมนดับเกือบ 70 ราย
สภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อง "ผู้ว่าฯกทม." เร่งตรวจสอบความปลอดภัยอาคารสูง 50 เขต ภายใน 30 วัน หลัง 11 ชุมชน แจ้งเบาะแส พบบางแห่ง ทำผิดกม.
ชี้เป้า วิธีจ่ายค่าไฟ แบบไม่มีค่าธรรมเนียม
"นายกฯ" ไข้กลับ หน้าซีด อ่อนเพลีย หลังลงพื้นที่นครพนม เรียกทีมแพทย์เช็กอาการด่วน
"CPF เคียงข้างยามวิกฤต" ชวนคนไทยส่งต่อพลังแห่งการให้ รพ.รามาธิบดี
"อธิบดีกรมอุทยานฯ" แจงยิบปมเงินรายได้ ยอมรับเตรียมปลด ‘ทราย สก๊อต’ พ้นที่ปรึกษา เหตุทัศนคติไม่ตรงกัน วอนรถทัวร์ดูข้อเท็จจริง
"พิพัฒน์" นำทีมเยี่ยมกลุ่มอาชีพอิสระ เครือข่ายแรงงาน นครพนม รับฟังปัญหา พร้อมเดินหน้ากองทุนหนุนพัฒนาอาชีพ
ATC ยื่นจม.ฉบับ 2 ขอ “นายกฯ” เร่งแจงข้อเท็จจริง ปมตึกสตง.ถล่ม ภายใน 15 วัน
สนามไชย 2 ชู "โครงการพระราชดำริ" มุ่งพัฒนาคน-ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น