“ก้าวไกล-เพื่อไทย” ร้าวลึกศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ

ก้าวไกล-เพื่อไทยเปิดศึกชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซัดกันนัวไม่มีใครยอมใคร จับตาแตกหักถึงขั้นถอนตัวร่วมรัฐบาลหรือไม่หากเพื่อไทยไม่สมหวัง พร้อมเจาะลึกตำแหน่งประธานรัฐสภาสำคัญเพียงใด

กลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่ สำหรับความขัดแย้งระหว่างพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ที่ตอนนี้กำลังเปิดศึกช่วงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานรัฐสภา กันอย่างดุเดือด ซึ่งก่อนหน้านี้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวโดยระบุชัดเจนว่าตำแหน่งประธานประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นของพรรคก้าวไกลจะปล่อยไปไม่ได้เด็ดขาด

โพสต์ของนายปิยบุตร ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า “การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.พรรคอื่น เพราะนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ใช้รณรงค์หาเสียงได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ กล่าวจำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป อาญา มาตรา 112 ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ พรรคก้าวไกลก็ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรค เรื่องหวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่

 

เช่นเดียวกับนายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ที่ออกมาขานรับแนวคิดของนายปิยบุตรทันทีว่า “พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 จะขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ตำแหน่งดังกล่าว ทางพรรคต้องขอเอาไว้เอง”

 

 

แม้นายปิยบุตร และรังสิมันต์ โรมจะมีจุดยืนในเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจน แต่ในฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้ประเด็นดังกล่าวในทันที โดยมองว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยนายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จัดชุดใหญ่ไปถึงนายปิยบุตร และพรรคก้าวไกลว่า ก้าวไกลจะกินรวบแบบนั้นไม่ได้ ความจริง 152 เสียง ยังไม่เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ตำแหน่ง ต้องทำให้ได้ 377 เสียงเหมือนพรรคไทยรักไทยในอดีต จึงต้องดูปอนด์ต่อปอนด์

“ผมมองว่า บุคลากรของพรรคเพื่อไทยมีความเหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาฯมากกว่า คิดว่าตำแหน่งนี้ควรไปโหวตในสภา เมื่อฝ่ายบริหารเราได้คนหนุ่มแล้ว แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ ผมคิดว่า พรรคก้าวไกลไม่ควรกินรวบ เล่นสลากกินแบ่งเป็นหรือไม่ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ถ้าหากพรรคเพื่อไทยไม่เดินไปกับพรรคก้าวไกล คุณจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี ผมขออนุญาตสอนนายปิยบุตรในฐานะรุ่นน้องที่ต่างเคารพนับถือซึ่งกัน ถ้าจะเป็นรัฐบาลอย่าห่วงเรื่องเล็ก” นายอดิศร กล่าว

 

 

ไม่แตกต่างกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่า โพสต์ของนายปิยบุตรเป็นการกดดันเพื่อปิดช่องไม่ให้พูดคุยกัน โดยระบุว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนที่จะถือว่าเป็นคนทั่วไปก็ได้ หรือเป็นคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือทางอ้อมก็ได้แล้วแต่ ซึ่งเรื่องตำแหน่งต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งการออกมาพูดเช่นนั้น อาจทำให้บรรยากาศของการทำงานร่วมกัน เจรจาพูดคุยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะเป้าหมายแรกต้องเลือกนายกฯ ให้ได้ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา เสมือนมีการกดดัน ปิดช่องให้ไม่มีการพูดคุยกัน ดูแล้วไม่ค่อยบวกเท่าไหร่

 

การออกมาเปิดศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล และเพื่อไทยในเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะความคิดเห็นของนายปิยบุตรที่ประกาศชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลต้องได้ตำแน่งดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งเสียงของนายปิยบุตรสะท้อนเจตจำนงค์ของพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน แม้ในฉากหน้านายปิยบุตรจะเป็นเพียงเลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตผู้ชวยหาเสียงของพรรคก้าวไกล แต่ในทางปฏิบัติเป็นที่รับรู้กันดีว่า นายปิยบุตรถือเป็นโปลิตบูโร และถือเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้มีอำนาจในการกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลอย่างมิอาจปฏิเสธได้

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ขณะเดียวกันการออกมาเปิดหน้าสู้ของนายอดิศร และ น.พ.ชลน่าน ที่ไม่ยอมยกตำแหน่งประธานรัฐสภาให้กับก้าวไกลง่าย ๆ ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่แฝงนัยนะชัดเจนว่า หากก้าวไกลไม่ยอมถอยงานนี้อาจมีพังกันไปข้าง โดยเฉพาะคำพูดของนายอดิศรที่ระบุว่า ถ้าหากพรรคเพื่อไทยไม่เดินไปกับพรรคก้าวไกล คุณจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดีนั้น จึงอาจประมาณได้ว่า หากก้าวไกลไม่ยอม เพื่อไทยจะถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นไปได้

เกี่ยวกับการตำหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก่อนหน้านี้มีข่าวพรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อนายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลใหดำรงตำแหนงดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นผู้ที่เหมาะสม เพราะมีความแม่นยำในเรื่องข้อกฎหมาย โดยนายณัฐวุฒิจบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต คหกรรมศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตรบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโชทัยธรรมาธิราช และปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยแม้ยังไม่ได้กำหนดผู้จะมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแข่งกับพรรคก้าวไกล แต่ฟากของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนโดดเด่น โดยเฉพาะนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย โดยในอดีตเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช

นอกจากนี้ยังมีนายสุชาติ ตัณเจริญ ที่เคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลพลังประชารัฐ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทยก็น่าจะมีความเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งในรัฐบาลพลังประชารัฐนายสุชาติถูกวางตัวให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากการต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อร่วมรัฐบาล ทำให้ตำแหน่งประธานรัฐสภาตกไปอยู่ในโควต้าของประชาธิปัตย์ ส่งผลให้นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในเวลาต่อมา

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสำคัญอย่างไรทำไมพรรคการเมืองถึงได้หมายปองกันนัก

สำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาด้วยอีกตำแหน่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยบทบาทแรกที่ชัดเจน คือ การเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ หลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญในฐานะผู้กำกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานสภาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยอนุญาต หรือจำกัดการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายงบประมาณประจำปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แม้ว่าข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเขียนไว้ชัดเจนว่าประธานสภาฯ ซึ่งเป็นประธานของที่ประชุม “ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งทำให้เกิดความ “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” ระหว่างพรรคการเมืองแต่ละฝ่ายระหว่างที่มีการประชุมหรืออภิปราย

 

นอกจากนี้ประธานรัฐสภายังหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เช่น การบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ญัตติทั้งหลายต้องเสนอต่อประธานสภาฯ เช่นเดียวกันในส่วนของญัตติด่วน ประธานสภาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่นในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา มีญัตติหลายประเด็น ที่ไมได้เข้าสภา เช่น พรรคก้าวไกล โดย ส.ส. 44 คน ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่กลับถูกโต้แย้งโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่ามีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นต้น

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยจะไม่มีใครยอมใคร เพราะตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง และอาจเป็นประตูก้าวแรกที่ทำให้ก้าวไกล และเพื่อไทยก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็เป็นไปได้….

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น