เลิกอ้อมค้อม “เพื่อไทย” ตีตกข้ออ้าง “ก้าวไกล” ต้องได้เก้าอี้ประธานสภาฯ โชว์ชั้นเชิงยกรธน.สอนอย่าเอาแต่ใจ ใช้มวลชนกดดัน

เลิกอ้อมค้อม "เพื่อไทย" ตีตกข้ออ้าง "ก้าวไกล" ต้องได้เก้าอี้ประธานสภาฯ โชว์ชั้นเชิงยกรธน.สอนอย่าเอาแต่ใจ ใช้มวลชนกดดัน

วันที่ 25 พ.ค. 66 น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ “Dr.Ying Rinthipond Varinvatchararoj” โดยระบุว่า #ประธานสภา #พรรคเพื่อไทย หากเคารพในในหลักการ ประชาธิปไตยกันอย่างแท้จริง เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องเข้าไปตัดสินด้วยการโหวตในสภาและเคารพเสียงข้างมากนะคะ

1.เพื่อไทยให้เกียรติ พรรคแกนนำมาตลอด ตั้งแต่วันนี้รู้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยแสดงสปิริตทางการเมืองทันที ยินดีกับพรรคอันดับ 1 และพร้อมร่วมมือไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแข่งถึงคะแนนจะห่างกันเพียง 10 ที่นั่ง นั่นคือความจริงใจ

2.เรื่องบางเรื่องทำไม ไม่นำหารือกันในวงประชุมก่อนของทุกพรรคร่วม การประกาศผ่านสื่อ และสร้างความกดดันยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง

3. ตำแหน่งประธานสภา เป็นเรื่องของการคุมเกมในสภา แม่นหลักการและกฎหมายให้เกียรติผู้อื่น และผู้อื่นให้ความเกรงใจ ต้องมีวัยวุฒิ คุณวุฒิ วุฒิภาวะ เพราะในอดีตก็เคยเกิดเหตุวุ่นวายในสภาตอนปี 56 มาแล้วถ้ายังจำกันได้ และตรงนี้ ตำแหน่งประธานสภาบุคลากรของพรรคเพื่อไทยมีความเหมาะสมในทุกมิติ

4.ถ้ามองกันแบบมิตรจริงๆและเชื่อใจกัน ประมุขฝ่ายบริหารเป็นของพรรคแกนนำอันดับ 1 และ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นของพรรคร่วม ก็ไม่น่ามีความกังวลใจใดถ้ามองอย่างมิตร ยกเว้นว่าคุณไม่เคยมองเราเป็นมิตร

5.สุดท้ายหากมีการจัดสรร รมต.ในอนาคต ต้องเป็นไปตามความรู้ ความสามารถ ทีมงาน และความถนัดของแต่ละพรรค และเกิดจากการประชุมและตกลงร่วมกัน

การยอมเสียสละก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งบางสิ่งอย่ามองว่าเสียสละกว่าใคร พรรคเพื่อไทยก็ถอยจนสุดแล้วเช่นกัน

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ต่อมา ทวิตเตอร์ “พรรคเพื่อไทย Pheu Thai Party” โพสต์ข้อความระบุว่า ประธานสภา ควรเปิดทางผลักดัน ‘ทุกนโยบาย’ ของ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น

ปัจจุบันที่เป็น ‘รัฐบาลผสม’ มีภารกิจสำคัญใน MOU ร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาจะเป็นใคร มาจากพรรคใด ก็ต้องทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก

หากจะยกกรณีที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ชนะโหวตทั้งนายกฯ และประธานสภามาโดยตลอด ไม่มีพรรคอันดับสองได้ นั่นเป็นเพราะเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร จึงชนะโหวตด้วยเสียงของ ส.ส.และผู้สนับสนุน

ในกรณีนี้ เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 และ 119 ระบุว่า

ประธานสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง โดยเป็นประธานของ ส.ส.ทั้งสภา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลด้วย

ทางรัฐธรรมนูญและประเพณีปฏิบัติ ประธานสภา ต้องวางตนเป็นกลาง เป็นประธานของฝ่ายค้านและรัฐบาล รัฐธรรมนูญมาตรา116 จึงบัญญัติว่าประธานและรองประธานสภาผู้แทนจะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองในเวลาเดียวกันไม่ได้ ประธานสภาจึงต้องผลักดันญัตติใดๆไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือประชาชนเข้าสู่สภา ไม่เลือกปฏิบัติ และหาทางลดอุปสรรคทั้งหลาย ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา การยกเหตุผลว่าจำเป็นต้องมีประธานสภาเพื่อไว้ผลักดันนโยบายของพรรคแกนนำ จึงเป็นความคิดผิดมาตั้งแต่ต้น เท่ากับวางบทบาทให้ประธานสภาไม่เป็นกลางมาแต่ต้น

 

 

 

 

 

โดยก่อนหน้านั้น พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า ประเด็น 3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกลที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในการผลักดัน

วาระแรก: เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า

ตลอด 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภามากกว่า 478 ฉบับ แต่มีกฎหมายที่ผ่านสภาไปเพียงแค่ 78 ฉบับ เท่านั้น เฉลี่ยกฎหมาย 1 ฉบับใช้เวลาในการพิจารณากว่า 310 วัน และในจำนวนกฎหมาย 78 ฉบับที่ผ่าน เกือบทั้งหมดเป็นกฎหมายของ ครม. มีกฎหมายของ ส.ส. ซีกรัฐบาลผ่านเพียง 4 ฉบับเท่านั้น และไม่มีกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านสภาเลย ทำให้เกิดสภาวะที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และไม่รองรับความท้าทายใหม่ๆ ได้ดีเท่าที่ควร

กฎหมายส่วนใหญ่จาก 400 ฉบับที่ตกไป ไม่ใช่เพราะผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ แต่กลับตกไปด้วยสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่รอบรรจุระเบียบวาระแต่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา 180 ฉบับกฎหมายที่ถูกประธานสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน และนายกรัฐมนตรีปัดตกไม่นำเสนอเข้าสู่สภา 85 ฉบับ

มีกฎหมายที่สภาพิจารณาและถูกปัดตกไปจริงๆ เพียง 45 ฉบับเท่านั้น เท่ากับว่าร่างกฎหมายที่ถูกนำเสนออีก 355 ฉบับ ถูกปัดตกไปด้วยกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และให้อำนาจดุลพินิจแก่ประธานสภาและนายกรัฐมนตรีเพียงแค่คนใดคนหนึ่ง กลับมีอำนาจมากกว่าเจตจำนงของผู้แทนประชาชนที่เหลือ

ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับของพรรคก้าวไกลที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร เป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ กระบวนการนิติบัญญัติที่ก้าวหน้าจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้กฎหมายเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ

 

วาระที่สอง: เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นวาระสำคัญ และถูกระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล การทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง จะต้องผ่านการประชุมสภาหลายครั้ง และจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในเนื้อหาที่มีความแหลมคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในการอำนวยการประชุมให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาทุกฝ่าย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

วาระที่สาม: ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“รัฐสภาโปร่งใส” หรือ Open Parliament จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ อยู่ที่ประธานรัฐสภา พรรคก้าวไกลประกาศเจตจำนงแน่วแน่ว่าจะทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด

3.1 ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ให้พี่น้องประชาชนติดตามได้ หรือหากไปไกลกว่านั้น ก็เป็นการรายงานบันทึกการออกเสียงลงมติต่างๆ ของผู้แทนราษฎรทุกคน โดยนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าถึงง่าย และรวดเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนติดตามการทำงานของผู้แทนของตนได้อย่างสะดวก ว่าในแต่ละประเด็น ผู้แทนของตนเองได้ลงมติออกเสียงไปอย่างไรบ้าง

3.2 ส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณรัฐสภา (Parliamentary Budget Office หรือ PBO) ในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้งบประมาณแผ่นดินของหน่วยงานองค์กรต่างๆ เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์นั้นจะถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

3.3 ตั้งสภาเยาวชน หรือ Youth Parliament (ซึ่งอาจต่อยอดจากสภาเด็กและเยาวชนที่มีอยู่) ที่ขึ้นตรงกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้สมาชิกสภาเยาวชนทุกคนมาจากการเลือกตั้งของเยาวชนทั่วประเทศ และกำหนดให้ข้อเสนอใดที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ ถูกบรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัติ ด้วยสถานะเทียบเท่ากับร่างกฎหมายที่ประชาชน 10,000 คน สามารถร่วมกันลงชื่อเสนอสู่สภาได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน

พรรคก้าวไกลต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”
สละเรือแล้ว! "ผบ.อิสราเอล" ยื่น "ลาออก" เซ่นเหตุ 7 ต.ค. ไล่แทงกันในเทลอาวีฟเจ็บ 5
สุดปัง “นายกฯ” สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ ร่วมประชุม WEF

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น