เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.66 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก “Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล” ระบุข้อความว่า เรื่อง “เลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่ ยาวิเศษ” เมื่อวาน พรรคก้าวไกล นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะก้าวหน้า พบกับสามสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ อีกไม่ช้าไม่นาน รัฐบาลก้าวไกลคงเร่งดำเนินนโยบายเกี่ยวกับกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ผมสนับสนุนเรื่องนี้ แต่มีประเด็นสำคัญที่ผมไม่เห็นด้วย นั่น คือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ขอนำข้อเขียนที่เคยเผยแพร่ไว้ มาเผยแพร่อีกครั้ง ดังนี้ ประเทศไทยมีระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 3 รูปแบบ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
ก่อนหน้านั้น มีความพยายามกระจายอำนาจไปทีละขั้นทีละตอนทีละพื้นที่ โดยสร้างให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่มีผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ต่อมา ก็ทยอยเริ่มตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่สุดเต็มพื้นที่จังหวัด คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และขนาดเล็กที่สุด คือ องค์การบริหารส่วนตำบล เพิ่มเติมจากเทศบาลที่มีอยู่แต่เดิม แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ไม่สามารถเรียกว่าองค์กรกระจายอำนาจได้ เพราะ ผู้บริหารยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยังไม่มีความเป็นอิสระด้านอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และการคลัง
ต้องรอจนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 40 ที่วางหลักการกระจายอำนาจไว้อย่างดีในหมวด 9 และขยายความใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ทยอยโอนงาน เงิน คน ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อมา รัฐบาลไทยรักไทย ผลักดันนโยบาย “ผู้ว่าฯซีอีโอ” ทำให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค สังกัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นคนที่รัฐบาลแต่งตั้งมา มีอำนาจและบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการบูรณาการเอาอำนาจที่กระจัดกระจายของส่วนภูมิภาค (ซึ่งสังกัดหลายกรม หลายกระทรวง) มารวมไว้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวโต๊ะ