หลังจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ออกมาเปิดเผยว่าได้โอนหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น ไปให้ทายาทคนอื่นแล้ว อ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหา จากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV สกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ตามมาว่า นายพิธาต้องการหลีกหนีความผิดหรือไม่ เพื่อยังหวังที่ตัวเองจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ตรวจสอบในเรื่องนี้ ยืนยันว่า หากนายพิธาโอนหุ้นดังกล่าวไปจริง ก็ไม่มีผลใดๆ เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ คาดว่าท้ายที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติของนายพิธา ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความคล้ายกับช่วงปี 2544 ที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดี นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ จากกรณีซุกหุ้นไว้กับคนรับใช้และคนขับรถ เพราะมีการกดดันการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม
โดยคดีของนายทักษิณมีจุดเริ่มต้นจากการที่ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ระบุว่า นายทักษิณจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ซึ่งมติป.ป.ช.มีขึ้นก่อนหน้าวันเลือกตั้งใหญ่ 6 มกราคม 2544 ไม่กี่วัน และผลการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณก็ชนะเลือกตั้ง นายทักษิณก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก