จากกรณีที่มีนักเรียนในโรงเรียนจังหวัดภูเก็ตหลายแห่งมีอาการปวดท้อง และอาเจียนกันเป็นจำนวนมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถาม นางสาวรมย์ชลี แก้วกลับ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไม้เรียบ เปิดเผยว่า ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณะสุของจังหวัดภูเก็ต ได้ออกประกาศแล้วหลังมีนักเรียน และชาวบ้านมีอาการปวดท้องและอาเจียนจำนวนมาก ทุกคลีนิคเต็มหมด โรงพยาบาลก็เต็มหมด กลายเป็นเหมือนโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ตอนนี้ทางโรงเรียนได้แนวทาง หรือมาตราการที่จะช่วยป้องกัน หรือบรรเทาจะไม่ให้มันเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น และวันนี้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขได้เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุที่โรงเรียนแล้วรวมถึงจะทำการปิดเรียนเป็นการภายใน
ต่อมาในเวลา18.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวกรณีสถานการณ์โรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ ทำให้มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกิดอาการท้องเสียหลาย 100 ราย
นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยและภูเก็ตเข้าสู่ฤดูฝน อากาศมีความเย็นและชื้น ทำให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสโนโรและไวรัสโรต้า รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย เชื้ออีโคไล ที่เกิดจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ซึ่งเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยตั้งแต่วันที่ 6 – 8 มิ.ย. 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้รับรายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเข้ารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐ เฉลี่ย 50 ราย/วัน โรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ย 100 ราย/วัน กระจายหลายกลุ่มอายุ ในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีรายงานพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และบางรายมีไข้ซึ่งพบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ประวัติอาหารและความเชื่อมโยงยังไม่ชัดเจน และพบการกระจายของโรคทั้ง 3 อำเภอ
สำหรับในโรงเรียนพบนักเรียนป่วยในพื้นที่ อ.เมือง อ.กะทู้ และอ.ถลาง ประวัติอาหารและความเชื่อมโยงยังไม่ชัดเจน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตจึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.แจ้งสถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐ และเอกชน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดต่อทางอาหารและน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการดำเนินการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ
2.แจ้งสถานศึกษาในพื้นที่ ทุกระดับ ให้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้ถูกสุขอนามัย ด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ไม่รับประทานอาหารสุกๆดิบๆ และอาหารค้างมื้อ งดทานอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากถ่ายอุจจาระ หรือสัมผัสสิ่งสกปรกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคทั้งจากตนเองไปสู่ผู้อื่น
กรณีที่ป่วยให้หยุดงาน หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ, ให้มีมาตรการคัดกรองผู้ป่วยให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย, เน้นมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน และเพิ่มความเข้มข้นความถี่ ในการทำความสะอาดจุดเสี่ยงในโรงเรียนเพื่อฆ่าเชื้อ