"ตรวจโรคไต" นักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโรคไตแบบ ATK สำเร็จ ความแม่นยำสูง ตรวจเองได้ที่บ้าน พร้อมเสนอเพิ่มสิทธิบัตรทอง
ข่าวที่น่าสนใจ
โดยทางด้านเพจเฟซบุ๊ก รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล ได้ระบุข้อมูลว่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ และคณะ ได้ทำการวิจัย ‘โครงการพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงโรคไตระยะเริ่มต้นสามารถตรวจประเมินเบื้องต้นด้วยตนเองได้ เนื่องจากการตรวจผู้ป่วยโรคไตจะต้องตรวจหาค่าซีรัมครีเอตินีนและตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ การตรวจด้วยวิธีนี้ จะต้องตรวจที่โรงพยาบาลแม้จะใช้เวลาตรวจไม่นาน แต่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ชุดตรวจคัดกรองโรคไตเบื้องต้นที่พัฒนาขึ้นนี้ มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง อ่านผลได้รวดเร็ว โดยผลการทดสอบพบว่า มีค่าความถูกต้องเฉลี่ย 94% ค่าความไวเฉลี่ย 86% ค่าความจำเพาะเฉลี่ย 97.8% อีกทั้งยังใช้งานสะดวก โดยตรวจกับปัสสาวะ ลักษณะคล้ายกับการตรวจ ATK ทำให้ตรวจคัดกรองโรคไตระยะเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล และสามารถนำชุดตรวจไปใช้งานในภาคสนามและ รพ.สต. หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคไตได้ตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ ชุดตรวจได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรรมอาหารและยา (อย.) แล้ว สามารถร่วมกับภาคเอกชนผลิตเป็นเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายได้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พบ ปี 2564 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,007,251 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหารและการกินยารักษาโรคร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง