๓. ศาลปกครอง ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีบทบาทในการเลือกหรือเลือกตั้ง เว้นแต่การกระทำบางอย่างที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อยู่ในเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ หรือเป็นกรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ (กรณีการกระทำด้านธุรกรรมทางการเงิน ผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีอํานาจ ใช้เงินหรือทรัพย์สิน หรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือดําเนินการอื่นตามที่ คณะกรรมการกําหนดอันจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย)ซึ่งเป็นอำนาจของศาลปกครองสูงสุดในการวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา ๓๓
๔. ศาลรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการรักษาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การกระทำระดับสูงขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ และการพิจารณาวินิจฉัยในอำนาจหน้าทีระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยจึงมีฐานะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเรื่องไม่ใช้ศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป โดยในเรื่องของการขาดคุณสมบัติการมีลักษณะต้องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาภายหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรีแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒
ด้วยฐานะขององค์กรและศาลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกและการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบในประเด็นอำนาจหน้าที่และบทบาทตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่านายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๒(๓) และมาตรา ๑๕๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ และจะดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดี
การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๕๑ ต้องพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำความผิดอาญามาตรานี้ ซึ่งบัญญัติดังนี้
“มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย”
องค์ประกอบภายนอก
๑) ผู้กระทำ คือ ผู้ใดซึ่งไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๒) การกระทำ คือสมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
๓) ผล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง องค์ประกอบภายในเจตนา(รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง)
เมื่อได้แยกองค์ประกอบทางอาญาดังกล่าวประกอบข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๒ จึงทำให้มีปัญหาว่า ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้อย่างไร เมื่อการวินิจฉัยองค์ประกอบส่วนผู้กระทำนั้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเตะเผือกร้อนออกไม่รับคำร้องทั้ง ๓ คำร้อง ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕ และมาตรา ๒๒๖ ได้ แต่จะดำเนินคดีอาญาตามปกติ คือต้องฟ้องผ่านตำรวจ พนักงานอัยการ และศาล(ศาลชั้นต้นด้วยไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง) จะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการดำเนินคดีจนเสร้จสิ้นถึงศาลฎีกา นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังมีข้อจำกัดในเขตอำนาจ เพราะอำนาจในการวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายพิธา ซึ่งในตอนนั้น น่าจะได้รับการรับรองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดีคือ การขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นอาจพิจารณาได้หลายทางซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอาญาของ กกต.ทั้งสิ้น
หากศาลชั้นต้นพิจารณาว่า ไม่มีอำนาจรับเรื่องหรือยกฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาเพราะไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา ก็จะพ้นจากการดำเนินคดี ซึ่งพนักงานอัยการอาจอุทธรณ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร แต่หากศาลชั้นต้นรับไว้พิจารณา ก็จะเป็นข้อต่อสู้ของนายพิธา(เกิดแน่ๆ)ได้ในทุกชั้นศาล ว่าศาลยุติธรรมไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาก่อนในคดีอาญามาตรา ๑๕๑ นี้ ซึ่งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการตามมาตรา ๘๒ คดีนี้น่าจะสิ้นสุดลงอย่างง่ายดายสบายนายพิธาที่ต้องวิตกกังวลมาเป็นเวลาพอสมควร
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ใช้อำนาจของตน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๒ นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจโต้แย้งว่าไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่ง (๒) ได้เพราะไม่อาจสั่งให้กระทบต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรายอื่นของพรรคนั้นได้นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งคงต้องไปพิจารณาว่า มาตรา ๑๓๒ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ นั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕-๒๒๖ หรือไม่ ซึ่งหากไม่สอดคล้องหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับไปพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๕-๒๒๖ เป็นหลักด้วย และมาตรฐานการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๒/๒๕๖๒ กรณีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จังหวัดระยอง กรณีของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๖๕๗๕/๒๕๖๒ รับรองหลักการดังกล่าวไว้ว่า การกระทำซึ่งทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้นรวมถึงการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือสมัครรับเลือกตั้งด้วย(ก่อนปี ๒๕๕๑ กรณีนี้เป็นเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้ง)
การวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งแบบนี้ ก็คงต้องแสดงความยินดีกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และบรรดาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลด้วยที่น่าจะรอดจากปัญหาเรื่องนี้ไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะภายในพรรคน่าจะมีทนายความที่มีฝีมือเพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้นอกเสียจากว่าเมื่อเปิดสภาแล้วไปที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่ากว่าหนึ่งในสิบร้องขอประธานสภาผู้แทนราษฎรค่อยมากังวลในเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง
สรุปก็คือ เรื่องนี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลน่าจะผ่านคดีมาตรา ๑๕๑ ไปได้สบายๆ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องกลับไปนั่งคิดหนักขึ้นว่า จะพ้นการฟ้องร้องของผู้ร้องทั้งหลาย ที่น่าจะร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔๙ หรือไม่ และมีประเด็นฝากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ช่วยพิจารณาเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งซึ่งมีผู้ร้องเรียนไปนานละว่า มีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพตามกฎหมายแห่งหนึ่งด้วย หากจะวินิจฉัยแบบนี้ ก็วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวแบบเดียวกันด้วยจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
รศ.คมสัน ระบุอีกว่า กกต. ไม่รับคำร้องพิธาถือหุ้นสื่อ ได้หรือ ? (ตอน๒)
๒. การร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเรื่องการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
การวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีคำร้องดังกล่าว มีลักษณะเป็นการแยกเรื่องการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แยกออกจากการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ หมวด ๗ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งมีการแก้ไขเฉพาะมาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะวินิจฉัยได้เองในช่วงเวลาก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งมาตรา ๑๓๒ ดังกล่าวและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อ ๒๒๑ นั้น มีความแตกต่างกับ มาตรา ๑๓๒ หนึ่งเดิม ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่บัญญัติว่า
“มาตรา ๑๓๒ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่
คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด
ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย
ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นระงับหรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมนั้นภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานว่าผู้สมัครผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นมีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้น เว้นแต่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นด้วย ในการนี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในกรณีที่มีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรานี้ภายหลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้สมัครที่ถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้คะแนนเลือกตั้งในลำดับซึ่งจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้งครบจำนวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น
ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยพลัน”
บทบัญญัติดังกล่าวมีการเพิ่มมาตรการในการลงโทษพรรคการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และหากพิจารณาตามแนววินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการในการดำเนินการกรณีเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“มาตรา ๖๐ ก่อนประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการใดหรือรู้เห็นกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น”
บทบัญญัติมาตรา ๖๐ ดังกล่าวนั้นมีถ้อยคำและหลักการที่ใกล้เคียงกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๒ เดิม ซึ่ง คำว่า “การเลือกตั้ง”หรือ “การเลือก” ซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เคยวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องเรื่องการมีปัญหาการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเรื่องการกระทำซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๒/๒๕๖๒ กรณีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จังหวัดระยอง กรณีของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๖๕๗๕/๒๕๖๒ ซึ่งวินิจฉัยสรุปความได้ว่า
“ผู้ร้อง(คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคําร้องว่า เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ และผู้ร้องมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เรื่อง กําหนดวันเลือกและวันรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา กําหนดวันเลือกระดับอําเภอวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ วันเลือกระดับจังหวัดวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ และวันเลือกระดับประเทศวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยอง กลุ่มที่ ๔ โดยยื่นใบสมัครพร้อมแสดงหนังสือแนะนําชื่อผู้สมัครจากองค์กรกลุ่มเกษตรกรทําสวนชุมแสง อําเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ผู้ร้องได้รับรายงานกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้คัดค้านกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) และมาตรา ๗๔ กล่าวคือ ผู้คัดค้านมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาและรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ผู้ร้องไต่สวนแล้วได้ความว่า ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) การที่ผู้คัดค้านรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ได้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกระทําอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) และมาตรา๗๔ เป็นเหตุให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยอง มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ผู้ร้องจึงมีคําสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ขอให้มีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๖๐ มาตรา ๒๒๖ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ วรรคสอง
ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเคยดํารงตําแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ)๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ นั้น มิใช่ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) เนื่องจากพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า “กองทุนไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นข้าราชการกรรมการในส่วนราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างหรือตําแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในส่วนราชการใด ๆ ผู้คัดค้านจึงมิได้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ยกคําร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งไต่สวนและตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยอง กลุ่มที่ ๔ โดยยื่นใบสมัครพร้อมแสดงหนังสือแนะนําชื่อผู้สมัครจากองค์กรกลุ่มเกษตรกรทําสวนชุมแสง อําเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ผู้คัดค้านได้รับเลือกระดับอําเภอ และระดับจังหวัด แต่ไม่ได้รับเลือกในระดับประเทศ ก่อนประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ผู้ร้องได้รับรายงานกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ ผู้ร้องจึงมีคําสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางคดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ทําให้ผู้คัดค้านมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) และถือว่าผู้คัดค้านกระทําการเพื่อให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ตามมาตรา ๒๐ หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) บัญญัติให้ผู้ที่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา การที่ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่าผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) ที่ผู้คัดค้านต่อสู้ว่ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่เป็นส่วนราชการ การกระทําความผิดของผู้คัดค้านตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ไม่ถือว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ที่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการนั้น แม้พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา๑๐ บัญญัติให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณก็ตาม แต่มาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ กรรมการบริหาร เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อผู้คัดค้านเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ผู้คัดค้านจึงมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้คัดค้านต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) การที่ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกระดับอําเภอวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๑วันเลือกระดับจังหวัดวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ และวันเลือกระดับประเทศวันที่ ๒๗ ธันวาคม๒๕๖๑ ทั้งที่ผู้คัดค้านต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเพราะมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ยังสมัครเข้ารับการเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาทําให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาในระดับอําเภอและระดับจังหวัดมีผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามเข้าไปรับการเลือกด้วย การกระทําของผู้คัดค้านจึงเป็นการทําให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยองมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม