จากกรณีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ถึงเรื่องที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับ “เอลนีโญ” จะทำให้มีฝนตกน้อยและอาจจะทำให้น้ำแล้ง ซึ่งการทำธนาคารน้ำใต้ดิน จะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้จริง พร้อมยกตัวอย่างผลลัพธ์ที่เกษตรกร อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นำไปทดลอง หรืออย่างที่ จอมบึงโมเดล ที่จังหวัดราชบุรี ทดลองทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ซึ่งได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันคือน้ำไม่ท่วมและไม่แล้ง “ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงที่ลมมรสุมพาดผ่าน มีฝนตกชุกเกือบทั่วประเทศ ผมมองว่าเราควรเร่งทำธนาคารน้ำใต้ดินในหลาย ๆ พื้นที่ และใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้”
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาตลอด โดยนโยบายการบริหารจัดการน้ำถูกบรรจุอยู่ในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่การหาเสียง อีกทั้งทีมนักวิชาการเกษตร พรรคเพื่อไทย ยังเดินหน้าปฏิบัติการภารกิจน้ำไม่ท่วม-ไม่แล้ง ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท สร้างศูนย์เรียนรู้ ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบเปิด ขนาด 40 × 40 เมตร ความลึก 10 เมตร ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท พร้อมใช้ประโยชน์ตั้งแต่ฤดูฝนนี้ ขณะเดียวกัน ยังได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับองค์ความรู้ดังกล่าว
“พรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่าความสมดุลของการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบชลประทานน้ำผิวดิน และการจัดการน้ำบาดาล ที่เสริมด้วยหลักการของธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้งระบบเปิดและระบบปิด จะสามารถช่วยให้ประชาชนได้กักเก็บน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งภาคครัวเรือนและภาคเกษตรอย่างสูงสุด เราเชื่อมั่นว่า ด้วยนโยบายธนาคารน้ำใต้ดิน จะทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาน้ำไม่ท่วม-ไม่แล้ง ได้อย่างเป็นรูปธรรม”