ด้านนายคีรี ระบุว่า ต้องขอบคุณผู้ว่ากทม. ที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาหารือ แม้จะเป็นครั้งแรกก็ตาม และต้องขอบคุณที่กทม.เข้าใจว่าเอกชนรับภาระมานานกว่า 4 ปี ทำให้ได้เข้าใจกันมากขึ้น และวันนี้เราได้เข้าใจตรงกันว่า จะต้องแบ่งภาระหนี้ ออกเป็น 2 ส่วน ทั้งค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล(E&M) และค่าจ้างจากการเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ที่ปัจจุบันมีจำนวนเงินรวมถึง 5 หมื่นล้านบาท
ซึ่งในส่วนของค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลได้มีการดำเนินการเเล้วเสร็จเรียบร้อย หลังจากทางกทม.ได้มีการเซ็นรับเรียบร้อย จึงถึงเวลาที่จะต้องชำระเงินให้เอกชน พร้อมขอบคุณผู้ว่าฯ ที่จะนำเรื้องนี้เข้าสู่สภากทม. เพื่อนำเงินมาจ่ายให้แก่เอกชน และเป็นเรื่องที่ทางกทม.จะไปขอให้สภากทม. อนุมัติ ทำให้บริษัทมีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะมีเงินชำระหนี้ก้อนแรกกลับคืนมากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับมากสำหรับบริษัทบีทีเอสซี
นอกจากนี้ นายคีรี ยังกล่าวถึง ข้อสรุปเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ยังเป็นไปตามคำสั่ง ม. 44 ซึ่งจะต้องดูว่า ครม.รักษาการ จะสามารถดำเนินการเช่นไรได้บ้าง แต่ในส่วนของคำสั่ง ม. 44 ที่ได้มีการเจรจาและได้มีการตกลงกัน กลับไม่ได้ผ่านเป๊นมติในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาและนำเรื่องออกมา 3 ถึง 4 ครั้ง จากมุมมองที่ไม่เหมือนกัน โดยในช่วงนั้นรมว.คมนาคม เป็นผู้คอยแย้งไม่ให้มีการพิจารณา แต่วันนี้ เมื่อรมว.คมนาคมไม่อยู่ เชื่อว่า กระทรวงคมนาคมจะมีความเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น หากรัฐบาลรักษาการจะทำให้เรื่องนี้จบ มูลหนี้ค้างจ่ายประมาณ 3 หมื่นล้านบาทจะมีทางออกทันที ดังนั้นหากสามารถดำเนินการได้ก็ขอให้ดำเนินการทันที แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ และจะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ
ตอนท้าย นายคีรี ยืนยัน ขณะนี้ไม่ได้มีอะไรติดใจกทม. เพียงแต่ขอให้ผู้ว่าฯ เห็นใจบริษัทเอกชน เพราะมูลค่าหนี้สินวันนี้ มีตัวเลขเกิน 5 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยเเบ่งเป็นมูลหนี้ E&M กว่า 2 หมื่นล้านบาท และ (O&M) หรือ ส่วนของค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า อีก 3 หมื่นล้าน ซึ่งวันนี้จำนวนหนี้ E&M ทางด้านของผู้ว่าฯ กทม.ได้กรุณาจะนำเข้าสู่สภากทม. เพื่อเห็นชอบและอนุมัติ ดำเนินการเพื่อจะชำระหนี้ก้อนนี้ ตามงวดเวลาการชำระ ได้รับการยืนยันว่า จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเห็นใจบริษัทที่จะต้องรับภาระมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งตนมองว่า หากเป็นผู้ให้บริการเจ้าอื่น คงจะหยุดดำเนินการเดินรถไปแล้ว โดยตนยังยึดมั่นคำเดิมเพื่อผู้โดยสารของตน ทำให้บีทีเอสยังคงเดินรถไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง
นายคีรี ระบุว่า “ผมเป็นคนเริ่มโครงการแรกของประเทศไทย และวันนี้ผมก็บริหารเดินรถนี้มาอย่างสุดความสามารถ จากตัวเลขต่างๆ รางวัลต่างๆ ที่ได้จากทั่วโลก ยืนยันได้ว่า เรามีความตั้งใจและบริการกับผู้โดยสารอย่างดีที่สุด แต่เวลานี้ เรื่องการเงินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นความจริงว่า เงินก้อนมันโตจนบริษัทมีความไม่คล่องในการนำเงินออกมาจ่ายให้ก่อนตลอดเวลา”
ทั้งนี้ ในส่วนของค่าจ้างเดินรถ ที่ศาลชั้นต้นดำเนินการตัดสินไปแล้วและมีการยื่นอุทธรณ์ เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีการพิจารณาออกมา ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น
โดยทุกอย่างมีที่มาที่ไปมีสัญญา และนอกจากสัญญาก็มีเรื่องการดำเนินการซึ่งทุกวันนี้ บีทีเอสซียังให้บริการเดินรถอยู่ เพราะหากไม่มีสัญญาแล้วบีทีเอสซียังให้บริการเดินรถ ก็จะเป็นคนที่ไม่มีความยุติธรรม เพราะหากไม่มีสัญญาแล้วยังให้บริการเดินรถขณะนี้ตนคงเป็นผู้บุกรุก แต่มันไม่ใช่ และขณะนี้การเลือกตั้งเเล้วเสร็จและกำลังจะมีครม.ชุดใหม่ ซึ่งหวังว่าคงจะเข้าใจและมีความยุติธรรมโดยไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องทั้งหมดก็คงดำเนินการแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว วงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
– หนี้ก้อนแรกวงเงิน 11,755.06 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ที่กทม.ได้ยื่นต่อศาลปกครอง หลังจากก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาให้กทม. และ เคที ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานคงมีความชัดเจน
– หนี้ก้อนที่สองวงเงิน 11,068.50 ล้านบาท ทางบีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้ไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ
ส่วนหนี้ที่เหลือ และหนี้ที่เพิ่มขึ้น จากการเดินรถ จะมีการดำเนินการตามขบวนการต่อไป
นอกจากนี้ นายคีรี ระบุถึงกรณีที่ คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพวก 13 คน ซึ่งปรากฏชื่อของตนเองและบริษัทฯ ในความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และความผิดฮั้วประมูลนั้น ขอยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งว่า เราไม่เคยฮั้วประมูล และสัญญาทุกอย่างมีที่มาที่ไป
ด้านพ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ทางบีทีเอสได้เคยชี้แจงไปแล้วอย่างชัดเจน และได้ยื่นหนังสือไปยัง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการหาตัวผู้กระทำผิด ที่ปล่อยให้มีเอกสารภายในหลุดออกมา และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ และราคาหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีการชี้แจงจากป.ป.ช. เพราะก่อนหน้านี้ทางป.ป.ช.ได้ออกมายอมรับว่าเป็นเอกสารลับทางราชการ และได้มีการสอบถามเพิ่มเติมว่า
ข้อกล่าวหาที่ระบุมานั้น ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์กระทำผิดอย่างไร ได้ร่วมกระทำผิดและสนับสนุนการกระทำผิดอย่างไร และเวลาใด
แต่ป.ป.ช.กลับทำหนังสือแจ้งมาเพียงระบุว่า ข้อกล่าวหาที่ได้แจ้งมานั้นครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ซึ่งบริษัทขอยืนยันว่าเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ส่งมานั้น ยังไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย เราเพียงอยากขอความชัดเจนว่า ที่แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งในฐานะนิติบุคคล และในฐานะส่วนตัวนั้น เราได้ไปกระทำความผิดอย่างไร ร่วมกับใคร ซึ่งหมายถึงผู้กล่าวหาคนใด กระทำผิดกันที่ไหน กระทำความผิดกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามพื้นพื้นง่ายง่าย แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้รับข้อมูลในส่วนนี้เลย และที่สำคัญการสรุปพฤติการณ์การกระทำความผิดของป.ป.ช. ต้องระบุพยานหลักฐานที่ใช้ยืนยันการกระทำความผิด
ซึ่งในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่มีระบุในเรื่องพยานหลักฐานนี้ ที่ต้องมาเน้นย้ำในเรื่องนี้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ และมีความสำคัญมาก การให้การของผู้ถูกกล่าวหาต้องไม่หลงประเด็น ในขณะนี้เราได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งหวังว่า ท่านจะให้ความกรุณาดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อทางเราจะได้ชี้แจงข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อเท็จจริงบางประการที่แจ้งมา และสามารถอธิบายได้ ทางบริษัทก็ได้ดำเนินการชี้แจงไปแล้ว