กรมประมง ประกาศ "ปิดอ่าวไทย" ตอนใน 8 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เพื่อบริหารจัดการ - ฟื้นฟูสัตว์น้ำฤดูมีไข่ให้มีใช้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ประจำปี 2566
- ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม
- ช่วงที่ 2 : ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน
ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด คือ
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- เพชรบุรี
- สมุทรสงคราม
- สมุทรสาคร
- กรุงเทพมหานคร
- สมุทรปราการ
- ฉะเชิงเทรา
- และชลบุรี
มั่นใจผลการศึกษาทางวิชาการยืนยันได้ว่า มาตรการฯ ที่บังคับใช้ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศเกิดความยั่งยืน
สำหรับมาตรการ “ปิดอ่าวไทย” รูปตัว ก ประจำปี 2566 จำนวน 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1
- ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2566
- ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
- โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,350 ตารางกิโลเมตร
ช่วงที่ 2
- ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2566
- ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร
อนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิด
1. อวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว
- ขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส
- ให้สามารถทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง
2. อวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล
- ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และมีขนาดช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป
- ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ
- ทั้งนี้ ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติด หรือวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน
3. อวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก
4. อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก
- ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)
- ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
5. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป
- และใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ
- ให้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้
6. ลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบ
- ตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป
- ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
7. เครื่องมือลอบหมึกทุกชนิด
8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบการทำประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง
9. เครื่องมือคราดหอย
- โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือประมงคราดหอย ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำร่วมด้วย
10. เครื่องมืออวนรุนเคย
- ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่
- และระยะเวลาในการทำการประมงที่ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติร่วมด้วย
11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก
12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
13. เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส
- ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบกับ
- เครื่องมือประมงที่ไม่ใช่เครื่องมือประมงพาณิชย์ตามประเภทที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์
- เครื่องมือประมงที่ไม่ใช่เครื่องมือทำการประมงประเภทอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)
- เครื่องมือประมงที่ไม่ใช่เครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่ออกตามมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
บทลงโทษของผู้ฝ่าฝืน
- สำหรับการใช้เครื่องมือในข้อ 2 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ ที่ออกตามมาตรา 71 (1) และเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง
- ต้องไม่ใช่เครื่องมือที่กำหนดห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา 67 มาตรา 69 หรือ มาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 – 30 ล้านบาท
- ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย
เป้าหมายฟื้นฟูปลาทูสาวสัตว์น้ำฤดูวางไข่
- สำหรับพื้นที่อ่าวไทยตอนใน หากพิจารณาจากผลจับสัตว์น้ำจากเครื่องมือประมงพาณิชย์ (เครื่องมืออวนล้อมจับ) เฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนในช่วงหลังมาตรการฯ พบว่าปี 2565 มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 11,716.75 กิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ถึง 8,631.33 กิโลกรัม/วัน (ปี 2564 ที่มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 3,085.42 กิโลกรัม/วัน) โดยสัตว์น้ำหลักที่จับได้ อาทิ
- ปลามงโกรย
- ปลาหลังเขียว
- ปลาสะดือขอ
- แต่โดยภาพรวมการ “ปิดอ่าวไทย” ส่งผลให้การจับปลาเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มของกลุ่มปลาผิวน้ำ เช่น
- ปลาสีกุนเขียว
- ปลาหลังเขียว
- และปลาตะเพียนน้ำเค็ม
- สำหรับปลาทู ลูกปลาที่เกิดมาใหม่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี) เริ่มเดินทางเข้าหาฝั่ง กรมประมงประกาศปิดต่อเนื่องบริเวณเขตชายฝั่งทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน เพื่ออนุรักษ์ลูกปลาทูที่เกิดใหม่
- รวมทั้งประกาศปิดเขตต่อเนื่อง บริเวณปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรักษาปลาทูสาวให้หากินและเลี้ยงตัว จนมีขนาดประมาณ 11-12 ซม.
- หลังจากนั้นจะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นทีอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ฝั่งตะวันตก ในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมในช่วงเวลาดังกล่าวจะพบปลาทูที่มีขนาด ประมาณ 14-15 ซม. ซึ่งเรียกว่า ปลาทูสาว และอยู่หากินในพื้นที่
- โดยค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ก้นอ่าว หรือพื้นที่ปิดฝั่งเหนือช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
- ในช่วงเวลาดังกล่าวพบ ปลาทูมีขนาด ประมาณ 16-17 ซม. ซึ่งเป็นขนาดพ่อแม่พันธุ์ เริ่มมีไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จะเลี้ยงตัวอยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนในจนปลายปี
- เมื่อมีความพร้อมที่จะวางไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จึงเริ่มอพยพเคลื่อนตัวลงสู่แหล่งวางไข่ในอ่าวไทยตอนกลางอีกครั้งเป็นไปตามวงจรชีวิตปลาทู ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดมาตรการ
ดังนั้น การดำเนินตามมาตรการจึงต้องมีต่อไป เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำ ไม่ให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่ หรือถูกจับก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ และจะเป็นหนทางในการนำปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง