วันที่ 13 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณากรณีกกต. ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อโดยเป็นคำชี้แจงของนายพิธา ที่โพสต์บนเฟสบุ๊คส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าว และรายงานการโอนหุ้นไอทีวีของนายพิธาไปยังนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด หรือน้องชาย เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 66 สำเนาหมายเหตุประกอบงบการเงิน ของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 66
นายเรืองไกร กล่าวว่า เห็นว่าการตั้งคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา 51 ของ กกต. ควรจะมีการพิจารณาหลักฐานเหล่านี้ ทั้งการชี้แจงของนายพิธาผ่านเฟสบุ๊คซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม หรือการที่นายพิธา จำไม่ได้ว่าโอนหุ้นเมื่อไหร่ซึ่งตนพบว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 25 พ.ค. 66 จึงนำหลักฐานมายื่นต่อกกต. และหมายเหตุประกอบงบการเงินไตรมาส1 ฉบับวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งมีการระบุชัดว่าวันที่ 24 ก.พ. 66 มีการทำธุรกิจสื่อ โดยมีการระบุว่าจะรับรู้รายได้ไตรมาส 2 ซึ่งธุรกิจสื่อตรงนี้เป็นงานบริการ ต้องมีการส่งมอบก่อนจึงจะรับรู้รายได้ ทำให้มีการระบุว่าจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2
“ที่กำลังถกเถียงกันในขณะนี้เกี่ยวกับรายงานการประชุมไม่ตรงกับคลิปวิดีโออัดไว้และมีการเผยแพร่แพร่ออกมาไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะต่อให้บันทึกไม่ตรง หรือไม่มีการถาม หรือมีการถามมากกว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป หรือข้อเท็จจริงที่นำมาร้องเปลี่ยนไป เพราะกฎหมายกำหนดว่า ผู้จะลงสมัครส.ส.ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ผมก็มีหลักฐานเป็นใบ บอจ.006 ที่ปรากฏชื่อนายพิธาถือหุ้น และยังพบว่ามีการเปลี่ยนที่อยู่ถึง 3 ครั้ง ในฐานะที่ท่านเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น จะอ้างว่าไม่ทราบรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะส่งให้กับผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ก็เป็นเรื่องของท่าน หรือจะแก้ว่าถือในนามใครก็เป็นสิทธิของนายพิธา” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวว่า กฎหมายกำหนดถึงหุ้นที่มีลักษณะต้องห้าม ตรงนี้ไม่ต้องเรียนกฎหมาย ก็อ่านแปลความหมายออกกฎหมายเขียนว่าห้ามไม่ให้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด สิ่งที่จะนำมาตอบประเด็นนี้คือเมื่อดูวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่พบว่ามีการเป็นคู่สัญญากับรัฐ แต่ระบุวัตถุประสงค์ทำกิจการสื่ออยู่ประมาณ 4-5 ข้อซึ่งหลังถูกบอกเลิกสัญญากับสำนักปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี (สปน.) วัตถุประสงค์ในการทำสื่อของบริษัทยังคงมีอยู่โดยดูได้ในรายงานการประชุม ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 59-61 มีการระบุเรื่องการมองหา เป้าหมายในการจะเป็นผู้ประกอบกิจการเทเลคอมมีเดีย และเทคโนโลยีอยู่แล้ว จนมาถึงรายงานตามงบการเงินไตรมาส 1 วันที่ 24 ก.พ.ระบุชัดว่าบริษัทมีการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับสื่อ